กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ไทยสร้างชื่อนำโครงงานวิทยาศาสตร์คว้าสเปเชี่ยลอวอร์ด (Special Award) จากผู้สนับสนุนการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก The Intel International Science and Engineering Fair 2018 (Intel ISEF) ที่มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์กว่า 1,800 คน จาก 80 ประเทศมาร่วมแข่งขัน ถึง 3 รางวัล ได้แก่ โครงงานการศึกษาสมการเชิงขั้วของการกระจายตัวของน้ำจากหัวสปริงเกอร์ ชนิดใบพัดแบบต่าง ๆ จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเพชรบุรี โครงงานระบบเครือข่ายเซนเซอร์สื่อสารไร้สายเพื่อการแจ้งเตือนไฟป่าและการลักลอบตัดไม้ จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยมุกดาหาร และโครงงานนวัตกรรมอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำจากเนอสเซอรีอนุบาลโกงกางใบใหญ่ จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา ณ เมืองพิตต์สเบิร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวถึงการนำ เยาวชนไทยเดินทางมาเข้าร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก The Intel International Science and Engineering Fair 2018 (Intel ISEF) โดยการผนึกกกำลังของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ระหว่างวันที่ 13-18 พฤษภาคม 2561 ที่เมืองพิตต์สเบิร์ก มลรัฐ เพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีนี้มีตัวแทนเยาวชนทีมไทยเข้าร่วมแข่งขัน 16 ทีม โดยในค่ำวันที่ 17 พฤษภาคม ได้มีการประกาศผลสเปเชี่ยลอวอร์ด หรือรางวัลพิเศษจากผู้สนับสนุน ผลปรากฏว่า เยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลสเปเชี่ยลอวอร์ดได้ถึง 3 รางวัล จากผู้สนับสนุน 2 ราย ได้แก่ Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society องค์กรทางวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก มอบรางวัลสเปเชี่ยลอวอร์ด ด้านงานวิจัยยอดเยี่ยมของทีมวิทยาศาสตร์ สาขาคณิตศาสตร์ ให้กับ นายอดิศร ขันทอง น.ส.วิชยา เนตรมนต์ประภา น.ส.กุลณัฐ บูรณารมย์ โรงเรียนจุฬาภรณ ราชวิทยาลัยเพชรบุรี กับโครงงานการศึกษาสมการเชิงขั้วของการกระจายตัวของน้ำจากหัวสปริงเกอร์ชนิดใบพัดแบบต่าง ๆ โดยอาศัยหลักการทางคณิตศาสตร์มาคำนวณการกระจายตัวของน้ำและจำลองการเคลื่อนที่ของหยดน้ำที่หมุนออกจากหัวสปริงเกอร์ชนิดใบพัดแบบต่าง ๆ ให้มีรัศมีครอบคลุมพื้นที่ที่ต้องการ
น.ส.วิชยา เนตรมนต์ประภา อธิบายถึงผลงานของกลุ่มตนว่า เกิดขึ้นจากการสังเกตสนามหญ้าที่โรงเรียนพบว่าสีของหญ้าไม่สม่ำเสมอน่าจะเกิดจากการรดน้ำไหมทั่วถึง จึงศึกษาสปริงเกอร์แบบต่าง ๆ พบว่ามีการกระจายตัวคล้ายกับสมการเชิงขั้ว จึงสร้างสมการเชิงขั้วของเส้นหลักของแนวการเคลื่อนที่ของน้ำจากหัวสปริงเกอร์ชนิดใบพัดทั้ง 4 ชนิดในการแก้ไขปัญหา ซึ่งพบว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง และการกระจายตัวของน้ำทั่วถึงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการช่วยประหยัดน้ำอีกด้วย
และอีก 2 รางวัลจาก USAID from the American People ประเทศสหรัฐอเมริกา องค์กรซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพของประชากรโลก ลดความยากจน และส่งเสริมการป้องกันประชาธิปไตยในระดับนานาชาติ รวมทั้งส่งเสริมการป้องกันโรคระบาด การป้องกันและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ และสนับสนุนเกษตรกรในการสร้างอาชีพที่เข้มแข็ง มอบรางวัลสเปเชี่ยลอวอร์ด ด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย สาขาระบบสมองกลฝังตัว (Embedded Science) ให้กับนายญาณภัทร นิคมรักษ์ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยมุกดาหาร กับโครงงานระบบเครือข่ายเซนเซอร์สื่อสารไร้สายเพื่อการแจ้งเตือนไฟป่าและการลักลอบตัดไม้
นายญาณภัทร นิคมรักษ์ อธิบายผลงานตนเองว่า ตนเองศึกษาและออกแบบการส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายเซนเซอร์สื่อสารไร้สาย เพื่อสร้างอุปกรณ์ที่สามารถตรวจจับความถี่เสียงของเลื่อยยนต์ สามารถตรวจจับไฟป่า และศึกษาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความชื้นในขณะที่เกิดไฟป่า โดยผลการทดลองส่งข้อมูลในพื้นที่ป่า มีระยะไกลที่สุดที่ 80 เมตร และในการติดตั้งในพื้นที่จริง ระยะห่างแต่ละ Node ห่างกันได้ไม่เกิน 45 เมตร เลื่อยยนต์ มีช่วงความถี่เฉพาะอยู่ 2 ช่วงความถี่ คือ ช่วงความถี่ที่ 118-300Hz และช่วงความถี่ที่ 1400-2000Hz จากผลการทดสอบโมดูลตรวจจับเสียงเลื่อยยนต์ที่ได้ออกแบบ พบว่าโมดุลสามารถตรวจจับอย่างแม่นยำ (100%) ในระยะ 0-35 เมตร และสามารถตรวจจับได้ไกลที่สุดที่ระยะ 90 เมตร ซึ่งจะช่วยป้องกันการลักลอบตัดไม้ แจ้งเหตุการเกิดไฟป่าได้อีกด้วย
และรางวัลสเปเชี่ยลอวอร์ด ด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Earth and Environmental Sciences) ตกเป็นของ นายกษิดิ์ เดชสุขไกว นายพัทธดนย์ นามวงค์เนาว์ นางสาวชิดชนก อินทร์แก้ว โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา กับโครงงานนวัตกรรมอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำจากเนอสเซอรีอนุบาลโกงกางใบใหญ่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าโดยการเพิ่มอัตราการรอดตายของต้นโกงกาง
นางสาวชิดชนก อินทร์แก้ว อธิบายผลงานของกลุ่มตนเองว่า การปลูกป่าโกงกาง ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก แต่ต้นโกงกางที่ปลูกมีอัตราการรอดชีวิตได้เพียง 25-30 % และต้องใช้ไม้ไผ่หรือเสาไฟฟ้าปักเป็นหลักเพื่อป้องกันไม่ให้ต้นกล้าโกงกาง ถูกพัดพา ทำให้สิ้นเปลืองเวลา แรงงาน และเงินทุน จึงได้มีสิ่งประดิษฐ์อุปกรณ์เชิงธุรกิจแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นนวัตกรรมปลูกป่าที่ราคาสูง ขนาดใหญ่ และเคลื่อนย้ายยาก ดังนั้น ตนเองและเพื่อนจึงช่วยกันคิดเนอสเซอรี่อนุบาลโกงกางขึ้นเพื่อให้เกิดความ สะดวก ประหยัด ใช้แรงงานน้อย ได้ผลการรอดชีวิตของโกงกางสูง โดยเนอสเซอรี่ที่จัดทำขึ้นแบ่งสองส่วนคือ ส่วนแรกเป็นส่วนของโครงสร้างเนอสเซอรีที่ทำหน้าที่ปกป้องต้นอ่อนไม่ให้ถูกพัดพาด้วยคลื่นลม และกระแสน้ำ ส่วนที่สอง ส่วนตรงกลางของเนอสเซอรีเป็นส่วนแคปซูลที่มีปัจจัยจำเป็นที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของต้นอ่อน ซึ่งประกอบด้วย ดินเลนนากุ้ง ผสมกับดินเลนป่าชายเลน เพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้กับต้นโกงกาง ส่งผลทำให้มีอัตราการงอกของต้นโกงกางวัยอ่อนสูงถึง 100 % สูงกว่าวิธีการปลูกด้วยการระดมคนสูงปลูกถึง 55.87% จึงประหยัดเวลาแรงงาน ต้นทุน ในการปลูกป่าชายเลน
นางกรรณิการ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับทุกรางวัลที่เยาวชนได้รับในการแข่งขันครั้งนี้ และขอส่งกำลังใจให้สำหรับทีมที่ยังไม่ได้รับรางวัล ในการรอลุ้นรางวัลแกรนด์ อวอร์ด (Grand Awards) ซึ่งจะประกาศผลในวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ต่อไป