กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
การจัดงาน "กันตังบ้านเรา" ครั้งที่ 1 ถือเป็นความร่วมมือภาคีเครือข่าย เทศบาลเมืองกันตัง, สถานีรถไฟกันตัง, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มอ.ตรัง, คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาสถาปัตยกรรม สจล., ภาคพลเมือง กลุ่มกันตังเมืองเก่า และ กลุ่มTRANG+ (ตรัง Positive) ร่วมกันจัดทำนิทรรศการส่งเสริมคุณค่า ภูมิปัญญาและมรดกชุมชน "กันตังบ้านเรา" เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้คุณค่า ศิลปะสถาปัตยกรรมและวิถีชุมชนกันตัง จ.ตรัง อย่างมีส่วนร่วม
โดยจุดเริ่มต้นแนวความคิดจากกลุ่ม "ตรัง Positive" นำทีมโดย อาจารย์กอล์ฟ ยิ่งยศ แก้วมี และคณะร่วมกันก่อนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับเมืองกันตัง จ. ตรัง ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ท่านนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองกันตัง นายสรนนท์ จิโรจน์มนตรี เป็นประธานในการเปิดงาน "กันตังบ้านเรา" ภายในงานประกอบด้วยงานสร้างสรรค์ศิลปะสถาปัตยกรรมและวิถีชุมขน ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมสำรวจรังวัด "Kantang Vernadoc" (กันตัง เวอนาดอก) เขียนแบบอาคารเก่าเพื่อการอนุรักษ์ในบริเวณตัวเมืองกันตัง , กิจกรรม "Kantang Sketcher" (กันตัง สเก๊ทเชอร์) เดินเล่น วาดเส้น เป็นเรื่อง รอบๆ ตัวเมืองกันตัง โดยความร่วมมือของคณะนักศึกษา 2 สถาบัน จาก ครุ- สถาปัตย์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มอ. วิทยาเขต ตรัง
Kantrang Vernadoc 2018 เริ่มจากกลุ่ม "ตรัง positive" ได้เห็นความสำคัญของสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าในพื้นที่อำเภอกันตัง ในเบื้องต้นได้ทำการเลือกอาคารจำนวน 5 หลัง ได้แก่ สถานีรถไฟกันตัง ศาลเจ้าไหหลำ ศาลเจ้าฮกเกียน อาคารเรือนแถวบริษัทบั่นเซงหิ้น และอาคารเรือนแถวจีน เป็นตัวแทนรูปแบบสถาปัตยกรรมในพื้นที่อำเภอกันตัง โดยความร่วมมือจัดทำแบบสำรวจรังวัด หรือ Vernadoc (เวอนาดอก) จากนักศึกษา 2 สถาบัน ได้แก่ คณะสถาปัตยกรรมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง และสาขาครุศาสตร์สถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นักศึกษามากว่า 60 คนใช้ชีวิตร่วมกันปฏิบัติการภาคสนามกันเป็นเวลา 9 วัน โดยอาศัยการสนับสนุนจากเทศบาลเมืองกันตัง และทุกภาคส่วน
เมื่อปฏิบัติการสำรวจรังวัดแล้วเสร็จได้แสดงผลงานคุณค่าความงามของสถาปัตยกรรมต่างๆในนิทรรศการกันตังบ้านเราต่อคนในพื้นที่รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาในอำเภอกันตัง เพื่อสืบทอดให้เห็นความสำคัญและเกิดความตระหนักในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าต่อไป
และในงานยังมีกิจกรรม เวิร์คชอป ทำขนมท้องถิ่นจากชุมชนในพื้นที่ ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวกันตัง ซึ่งถือว่าเป็นขนมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของกันตัง จ. ตรัง อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นขนมสี่ขา , ขนมเต่าแดง , ขนมอาโปง, ขนมลูกต้ม ฯลฯ , พร้อมด้วยกิจกรรมการแสดงชุดเงาะป่า จากโรงเรียน จุงฮัวโซะเซียว จ. ตรัง ปิดท้ายด้วย กิจกรรมเสวนาในประเด็น "ร่วมสร้างสรรค์กันตัง สู่ความสุขอย่างยั่งยืนอย่างไร" โดยมี อาจารย์ณธทัย จันเสน (อ. สิงห์) รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นผู้ดำเนินรายการ และผู้เสวนาร่วมสร้างสรรค์ อีก 4 ท่านคือ ผศ. ปริญญา ชูแก้ว (อ.แป่ง) อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของรางวัลรางวัลศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภท บุคคล ประจำปี 2561 - สมาคมสถาปนิกสยามฯ , นายภัทรพล มณีอ่อน (หมอล็อต) นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช , ดร. ยุทธพงษ์ ชัชวาลวรรณ (เดอะกุ่ย) นักปั่นจักรยาน - เป็นคนเอเชียคนเดียว ที่เข้าแข่งขัน Snow Bike Fest 2016 - เจ้าของธุรกิจจักรยาน XDS & มีแสงไบค์ พร้อมด้วยตัวแทนคนตรัง นายสุธีระ ตรังคิณีนาถ ประธานกลุ่ม YEC จังหวัดตรัง มาร่วมพูดคุยถึงแนวความคิดในการสร้างสรรค์และส่งเสริมให้ชุมชนกันตังเมืองเก่าอยู่ด้วยความยั่งยืน ซึ่งให้ความสนใจจากคนในพื้นที่และแนวร่วมการอนุรักษ์ชุมชนกันตัง อย่างมากมาย พร้อมนิทรรศการกิจกรรมแสดงภาพถ่าย "กันตัง บ้านเรา" ภาพถ่ายเก่า "กันตัง แต่แรก" พร้อมด้วยภาพวาดจาก Sketcher ร่วมกับเยาวชนกันตัง พร้อมนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. ยังนำโปสการ์ด (Postcards) วาดด้วยดินสอ ปากกา และสีน้ำ มาสร้างสีสันในงาน พร้อมกับศิลปินชาวเยอรมัน Liudmila Letnikova Art Direction ศิลปินต่างชาติ ชาวรัสเซีย เป็นคนทำ Street Art (สตรีตอาร์ต) ในเมืองเก่าภูเก็ต มาร่วมสร้างสรรค์ให้กัน Street Art ในกันตัง โดยโครงการ กันตังบ้านเรา ได้รับการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการจัดงานจาก เทศบาลเมืองกันตัง พร้อมด้วยชุมชนกันตัง จ. ตรัง และทุกภาคส่วน ให้เกิดความร่วมมือกันอย่างมีส่วนร่วมเพื่อชุมชนยั่งยืน
หลังจากจบกิจกรรม "กันตังบ้านเรา" ทางกลุ่ม ตรัง Positive ได้พาคณะสื่อมวลชน - นักศึกษา เดินทางไปสำรวจชุมชนต้นแบบการอนุรักษ์พื้นถิ่น และร่วมกันเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนชาวเล และพักค้างคืนแบบโฮมสเตย์ ที่ ณ เกาะสุกร จังหวัดตรัง เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนพื้นถิ่น ของจังหวัดตรัง ในครั้งนี้เป็นการปิดท้ายกิจกรรมอย่างชื่นมื่นอีกด้วย
สำหรับท่านใดที่สนใจข้อมูลโครงการ "กันตังบ้านเรา" และกิจกรรมดีๆ สร้างแรงบันดาลใจ ในจังหวัดตรัง สามารถเข้าไปชมรายละเอียดและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เพจ ตรัง Positive (Trang +) คลิกที่ https://www.facebook.com/Trangpositivesociety