กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส
สภาวะตลาดวันที่ 09 กรกฎาคม 2561 ราคาทองคำแกว่งตัวในกรอบที่ระดับ 1,254.50-1,262.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำแท่ง 96.5% ภายในประเทศขายออกอยู่ที่ 19,800 บาทต่อบาททองคำ โดยราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น 50 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 19,750 บาทต่อบาททองคำ ขณะที่โกลด์ฟิวเจอร์ส GFQ18 อยู่ที่ 19,920 บาท โดยราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น 60 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 19,860 บาท
(หมายเหตุ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้น ณ เวลา 15.33 น. ของวันที่ 09/07/61)
แนวโน้มวันที่ 10 กรกฎาคม 2561
คาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมด 4 ครั้งในปี 2561 ถูกบั่นทอนจากข้อมูลจ้างงานสหรัฐในเดือนมิ.ย.แสดงถึงการขยายตัวของค่าจ้างที่ชะลอกว่าที่คาดและอัตราการว่างงานปรับขึ้นสู่ 4.0% จากระดับ 3.8% ในเดือนพ.ค. ข้อมูลดังกล่าว กดดันดอลลาร์อยู่ใกล้จุดต่ำสุดรอบ 3 สัปดาห์ครึ่งเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างๆ และกดดันผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีร่วงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 6 สัปดาห์ รวมทั้งส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี และ 10 ปี อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี นอกจากนี้นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับสงครามการค้าเต็มรูปแบบ จากความหวังที่จะมีการเจรจากันเพื่อลดผลกระทบ เพราะหลังจากที่สหรัฐเริ่มดำเนินการเก็บภาษีต่อการนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ไม่กี่ชั่วโมง สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ระบุว่า บริษัทต่างๆที่ต้องการได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีต่อการนำเข้าสินค้าจีนมายังสหรัฐ จะมีเวลา 90 วันในการยื่นคำร้อง จนถึงวันที่ 9 ต.ค. และการยกเว้นภาษีใดๆที่ได้รับอนุญาตแล้ว จะมีผล 1 ปี และจะมีผลย้อนหลังถึงวันศุกร์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าที่เบาบางลง กระตุ้นให้สกุลเงินหยวนของจีนกลับแข็งแกร่งขึ้น 0.4% มาที่ 6.623 ต่อดอลลาร์ ขณะที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิดในเดือนมิ.ย.แม้จะมีความวิตกเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐในขณะนี้ โดยทุนสำรองของจีนเพิ่มขึ้น 1.51 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมิ.ย. สู่ 3.112 ล้านล้านดอลลาร์ สวนทางกับที่นักเศรษฐศาสตร์คาดก่อนหน้านี้ว่าทุนสำรองจะลดลง 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์ สู่ 3.10 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ก่อนหน้านี้หยวนได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่หลังจากมีการควบคุมเงินทุนที่เข้มงวดขึ้น ช่วยให้หยวนฟื้นตัวขึ้น จนกดดันดอลลาร์ ซึ่งเป็นแรงหนุนราคาทองคำ อย่างไรก็ตามนักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของจีนผ่านการรายงาน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนมิ.ย. ในวันอังคารนี้ เพื่อเป็นปัจจัยชี้นำเงินหยวนและราคาทองคำ
กลยุทธ์การลงทุน ทางวายแอลจีมีมุมมองว่า ในระยะสั้นราคาทองคำยังมีการแกว่งตัวในกรอบทิศทางในทิศทางออกตัวด้านข้าง ซึ่งกรอบราคาด้านบนประเมินแนวต้านที่บริเวณ 1,266-1,272 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ระยะสั้นความผันผวนของราคาและการแกว่งตัวของราคาอาจลดลงจากช่วงที่ผ่านมา โดยให้เน้นไปที่การเข้าลงทุนระยะสั้น ทั้งนี้ประเมินแนวรับไว้ที่ 1,248 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยมีแนวรับถัดไปอยู่ที่ 1,237 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และเมื่อราคามีการปรับตัวสูงขึ้น นักลงทุนที่สะสมทองคำไว้อาจขายทำกำไรบางส่วนออกมาบ้างเพื่อลดความเสี่ยง แต่สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงได้แนะนำให้ถือต่อเพื่อทำกำไรบริเวณแนวต้านถัดไป
ทองคำแท่ง (96.50%)
แนวรับ 1,248 (19,550บาท) 1,237 (19,350บาท) 1,222 (19,100บาท)
แนวต้าน 1,266 (19,850บาท) 1,272 (19,950บาท) 1,283 (20,100บาท)
GOLD FUTURES (GFQ18)
แนวรับ 1,248 (19,700บาท) 1,237 (19,530บาท) 1,222 (19,300บาท)
แนวต้าน 1,266 (19,990บาท) 1,272 (20,090บาท) 1,283 (20,260บาท)
หากต้องการทราบทิศทางราคาทองคำและแนวทางลงทุนทองคำ ขอคำปรึกษาเพิ่มเติมจากทีมที่ปรึกษาการลงทุนด้านโกล์ดฟิวเจอร์ส โทร.02-687-9999