กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--ท่าอากาศยานไทย
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ร่วมกับกรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดฝึกซ้อมแผน ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) กรณีเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไข้หวัดนกชนิดรุนแรงสายพันธุ์ H7N9 เพื่อให้ทุกส่วนงานเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นใจในด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้กับผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ
นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (17 กรกฎาคม 2561) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ได้จัดฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) จำลองสถานการณ์กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไข้หวัดนกชนิดรุนแรง สายพันธุ์ H7N9 ในรูปแบบ Table - Top Exercise วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบตามที่กำหนดไว้ในแผนฯ และสามารถนำไปปฏิบัติในสถานการณ์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป เข้าร่วมฝึกซ้อมและให้เกียรติบรรยายในเรื่องมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย และการควบคุม ป้องกัน โรคติดต่อระหว่างประเทศภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ตามลำดับ การฝึกซ้อมในปีนี้มีการจำลองสถานการณ์ว่า มีการตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกจากสัตว์ปีกที่มีการลักลอบนำเข้ามาภายในประเทศ และมีการพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ซึ่งเป็นผู้ป่วยประเภทที่ได้รับเชื้อมาจากประเทศต้นทางและมาแสดงอาการป่วยภายในประเทศไทย การฝึกซ้อมครั้งนี้มีการวางแผนร่วมกันเป็นอย่างดี มีการดำเนินงานตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความร่วมมือระหว่างเครือข่ายในการใช้แผนตอบโต้ โดยการฝึกซ้อมมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะทำงานพัฒนาสมรรถนะช่องทางเข้าออกประเทศ ทสภ. ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์จากหน่วยงานภายนอกประมาณ 85 คน อาทิ ผู้แทนกรมปศุสัตว์ ผู้แทนด่านกักกันสัตว์ ผู้แทนด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ทสภ. ผู้แทนบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ผู้แทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ผู้แทนสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและผู้แทนคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบิน ประเทศไทย ฯลฯ เข้าร่วมการฝึกซ้อมในครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียง
นายศิโรตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การฝึกซ้อมแผนฯ ถือเป็นการพัฒนาสมรรถนะด้านหนึ่งตามข้อกำหนด ของกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 และยังเป็นไปตามบทบัญญัติทางกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยขับเคลื่อนผ่านคณะทำงานพัฒนาสมรรถนะช่องทางเข้าออกประเทศภายใต้กฎอนามัยฯ และคณะทำงานช่องทางประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ทสภ. การฝึกซ้อมครั้งนี้ทุกหน่วยงานสามารถประสานการปฏิบัติงานร่วมกันแบบบูรณาการได้อย่างดี จนทำให้การฝึกซ้อมเป็นไปอย่างเรียบร้อย ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการฝึกซ้อมได้มีการประเมินผลความผิดพลาดเพื่อปรับปรุงแผนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติหากเกิดเหตุการณ์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ