กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือนมิถุนายน 2561 จำนวน 1,019 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 30.1, 39.0, 30.9 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 31.9, 18.5, 18.9, 18.8 และ 11.9 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 79.2 และ 20.8 ตามลำดับ
โดย ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ระดับ 91.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 90.2 ในเดือนพฤษภาคม โดยค่าดัชนีฯ สูงสุดในรอบ 42 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
จากการสำรวจ พบว่า ในเดือนมิถุนายน ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และสูงสุดในรอบ 42 เดือน โดยความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สะท้อนว่าผู้ประกอบการมองภาพรวมของเศรษฐกิจภายในประเทศ ยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้รับผลดีจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก 2018 ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายจากต่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่ครอบคลุมทุกภูมิภาค ตลอดจนราคาน้ำมันที่มีความผันผวนและปัญหาการแข่งขันด้านราคา
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ระดับ 102.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.6 ในเดือนพฤษภาคม จากปัจจัยด้านการลงทุนของภาครัฐ และการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความกังวลต่อมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นทำให้กระทบต่อต้นทุนประกอบการ
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนมิถุนายน 2561 จากการสำรวจ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ปรับตัวลดลงจากเดือนพฤษภาคม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม โดยมีรายละเอียดดังนี้
อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ระดับ 74.5 ปรับตัวลดลง จากระดับ 75.4 ในเดือนพฤษภาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน,อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเกษตร เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ93.1 ในเดือนพฤษภาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ระดับ 92.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 90.4 ในเดือนพฤษภาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่ง- ซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุ-ภัณฑ์, อุตสาหกรรมรองท้า, อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 106.0 ในเดือนพฤษภาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ระดับ 108.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 107.3 ในเดือนพฤษภาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอด-คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 106.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 105.9 ในเดือนพฤษภาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนมิถุนายน 2561 จากการสำรวจ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ และภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนพฤษภาคม โดยมีรายละเอียดมีดังนี้
ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ระดับ 94.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 89.7 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมอาหาร (อาหารทะเลแช่แข็ง และผักผลไม้แช่แข็ง มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯและเอเชีย นอกจากนี้อาหารสำเร็จรูป มียอดขายในประเทศมากขึ้น เนื่องจากได้รับผลดีจากการแข่งขันฟุตบอลโลก)
อุตสาหกรรมอลูมิเนียม (ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมยาน-ยนต์, ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ขณะที่สินค้าประเภทกระป๋อง ขวด อลูมิเนียมมีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม)
อุตสาหกรรมยานยนต์ (รถยนต์นั่ง รถกระบะ รถจักรยานยนต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ด้านการส่งออก มีคำสั่งซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นจากตลาดเอเชีย ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง)
อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมพลาสติก (ถุงพลาสติกและฟิล์มพลาสติก มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากลูกค้าชะลอการสั่งซื้อ และมีสต็อคสินค้าในปริมาณสูง การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกมีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และยุโรป)
ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 105.1 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ระดับ 81.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 82.8 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ส่งผลด้านลบ ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (อิฐมวลเบาและอิฐโปร่ง หินที่ใช้ในการก่อสร้าง มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝนทำให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลง)
อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ (หลังคาเมทัลชีทและกระเบื้องลอนคู่ มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากเป็นช่วงสู่ฤดูฝน)
หัตถอุตสาหกรรม (สินค้าหัตถกรรม เครื่องเคลือบและของที่ระลึก สินค้าพรีเมี่ยม มียอดขายในประเทศลดลง)
อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมสิ่งทอ (สินค้าประเภทเส้นใยสิ่งทอและเส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้เพื่อผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป การส่งออกเส้นใยสังเคราะห์และเส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดอาเซียน)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 92.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 89.3 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ระดับ 87.5ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 86.9 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (โทรทัศน์ดิจิทัล มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากการแข่งขันฟุตบอลโลก ด้านการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้า มีคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ ยุโรปและเอเชีย อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯและ CLMV)
อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป ชุดกีฬา มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป เสื้อผ้ากีฬาและชุดชั้นใน มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐ อาเซียน และยุโรป)
อุตสาหกรรมเซรามิก (กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศลาว)
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล (น้ำตาลทรายขาว มีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาด CLMV)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 98.6 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ระดับ 107.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 106.3 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (อะไหล่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทอะไหล่และล้อยาง อุปกรณ์เสริม มีคำสั่งซื้อจากตลาดญี่ปุ่น)
อุตสาหกรรมเหล็ก (เหล็กรีดร้อน ชนิดแผ่นและชนิดม้วน เหล็กทรงยาว มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้ในโครงการลงทุนของภาครัฐ)
อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (เม็ดพลาสติก มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน สารโพลิเมอร์ มีคำสั่งซื้อจากในประเทศเพิ่มขึ้นและส่งออกไปยังตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น)
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบ ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (เครื่องประดับประเภทอัญมณี เพชร พลอย มีคำสั่งซื้อลดลงจาก จากตลาดฝรั่งเศส ประกอบกับราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 109.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 108.4 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ระดับ 80.8 ปรับตัวลดลง จากระดับ 81.7 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์มดิบมีปริมาณการผลิตและคำสั่งซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการมีสต็อคสินค้า ในปริมาณสูง ขณะที่น้ำมันปาล์มขวดมียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศลดลง)
อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ไม้ยางพาราแปรรูปมีคำสั่งซื้อในประเทศลดลง ขณะที่การผลิตลดลงเนื่องเป็นช่วงฤดูฝน ประกอบกับมีการขาดแคลนแรงงาน การส่งออกไปประเทศคู่ค้าอย่างจีน ชะลอตัวลง เนื่องจากสต็อกสินค้าจำนวนมาก)
อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง (ผลิตภัณฑ์ยางแท่ง STR มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ยางรถยนต์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 102.0 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขายในเดือนมิถุนายน 2561 จากการสำรวจ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเดือนพฤษภาคม โดยมีรายละเอียดดังนี้
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ระดับ 88.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 86.6 ในเดือนพฤษภาคมองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม, อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 100.8 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ระดับ 105.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 104.4 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 106.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 105.0 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน2561 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศ ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
หมายเหตุ: การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยอาจไม่ได้อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เสมอไป เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของไทยมักจะพิจารณาปัจจัยด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยด้วย ซึ่งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการค้า ยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดีและสามารถรองรับความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้แต่อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯอาจจะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน (เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) ให้มีความผันผวนอยู่บ้าง
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
เสนอให้ภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ในโครงการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในส่วนภูมิภาค ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตและใช้วัตถุดิบในประเทศเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดย่อมซึ่งเป็นผู้ผลิตต้นน้ำให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่