กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี
บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (mu Space and Advance Technology) ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียมของไทย ได้ออกมายืนยันว่า ทางบริษัทฯ ได้ส่ง อุปกรณ์ที่บรรจุสิ่งของต่างๆ (payload) เพื่อนำขึ้นไปกับจรวดของบริษัท Blue Origin ที่กำลังจะปล่อยขึ้นสู่อวกาศเร็วๆนี้
Payload ในครั้งนี้ มีน้ำหนักโดยรวม 6 กิโลกรัม จะประกอบไปด้วยสิ่งของทดลองทางวิทยาศาสตร์และงานวิจัยหลากหลายชิ้นจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานด้านอวกาศของประเทศไทย เช่น
- อุปกรณ์ห้ามเลือด สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ส่งอุปกรณ์ที่ทางสถาบันฯ พัฒนาขึ้นสำหรับใช้ป้องกันกรณีเลือดออกรุนแรง โดยทางสถาบันฯ ต้องการทดสอบคุณภาพของอุปกรณ์นี้หลังจากที่อุปกรณ์นี้เจอกับสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (microgravity) ในอวกาศแล้ว
- Carbon Nanotube จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องการศึกษาว่า อวกาศจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อสภาพโครงสร้างและคุณลักษณะทางไฟฟ้าของ Carbon Nanotube ซึ่งเป็นวัตถุที่ถือว่ามีความแข็งแรงกว่าเหล็กถึง 100 เท่า
- อาหารที่อยู่ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ ซึ่งการทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้รู้ว่าสภาวะ แรงโน้มถ่วงต่ำ จะส่งผลกระทบต่อกลิ่น รสชาติ และเนื้อของอาหารอย่างไรบ้าง โดยทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านอวกาศของประเทศไทย จะใช้การทดลองนี้เพื่อพัฒนาเทคนิคการจัดทำอาหารสำหรับไว้ใช้บริโภคในอวกาศ
นอกจากนี้ สิ่งของบรรทุกดังกล่าวยังประกอบไปด้วยสิ่งของอีกหลายชิ้นจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) อีกด้วย
ในส่วนของบริษัท มิว สเปซนั้น ได้ส่งวัสดุผ้าสำหรับใช้ในการทดลองเพื่อการพัฒนาและผลิตเป็นชุดอวกาศและอุปกรณ์เครื่องแต่งกายต่างๆ และยังได้ส่งเสื้อฟุตบอลทีมชาติไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ระหว่างคนไทยกับมหกรรมฟุตบอลโลก และเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จในภารกิจช่วยเหลือทีมฟุตบอลและโค้ชทั้ง13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา
เจมส์ เย็นบำรุง ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท มิว สเปซ กล่าวว่า "สิ่งของบรรทุกนี้จะถูกส่งขึ้นไปสูงถึง 100 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ซึ่งเมื่ออยู่ในอวกาศแล้ว สิ่งของ เหล่านี้จะเจอกับสภาวะแรงโน้มถ่วงที่น้อยลงหรือสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง"
"ทางเรามีความยินดีเป็นอย่างมากที่จะได้มีส่วนร่วมกับทาง Blue Origin ในการปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศในครั้งนี้ ซึ่งทางเราต้องการเรียนรู้เช่นกันว่าสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อโครงสร้างและสภาพของสิ่งต่างๆ และเราหวังว่าการปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศในครั้งนี้จะช่วยทำให้เราเข้าใจวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้มากขึ้น" เจมส์กล่าวเพิ่มเติม
บริษัท Blue Origin นั้นก่อตั้งโดย Jeff Bezos ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารและเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Amazon ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการริเริ่มให้มีการส่งมนุษย์ไปอยู่ในอวกาศ โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558 นั้นจรวด New Shepard ของบริษัท Blue Origin ได้กลายเป็นจรวดลำแรกที่มีการปล่อยขึ้นสู่อวกาศและกลับมายังพื้นโลกโดยการลงจอดแบบแนวดิ่ง และเพียงไม่ถึงสองเดือนต่อมาจรวดลำเดิมนั้นก็ได้ขึ้นสู่อวกาศและกลับมาลงจอดยังพื้นโลกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการนำจรวดกลับมาใช้ใหม่อันจะเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่อนาคตที่ผู้คนนับล้านจะได้ใช้ชีวิตและทำงานในอวกาศ
บริษัท มิว สเปซ ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 เพื่อพัฒนาธุรกิจด้านเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียมซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) และ Smart Cities โดยบริษัทฯวางเป้าหมายที่จะปล่อยดาวเทียมของตัวเองขึ้นสู่อวกาศภายในปี 2020 โดยใช้ยาน New Glenn ของบริษัท Blue Origin เป็นพาหนะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและต่อยอดสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจอวกาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก