กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--เอสซีจี
หลังจากการเฟ้นหาผู้เข้ารอบในโครงการ "The Challenge - Packaging Design Contest 2018" เวทีสำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ ที่เปิดโอกาสให้น้อง ๆ นิสิต นักศึกษา ได้ร่วมประกวดผลงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ตามโจทย์ตอบใจลูกค้า ภายใต้แนวคิด "Design Plus Marketing" Where Packaging steps up its game ผ่านโจทย์การออกแบบบรรจุภัณฑ์ 4 โจทย์ ที่มีความท้าทายแตกต่างกัน ให้ผู้เข้าแข่งขันได้เลือกตามความถนัด จากนับร้อยผลงานถูกคัดเลือกจนเหลือเพียง24 ทีม เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมา และได้จบลงอย่างสวยงาม ด้วยสุดยอดผลงานจาก 4 โจทย์ที่ออกแบบชั้นแสดงสินค้าและบรรจุภัณฑ์จากวัสดุของธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในเอสซีจี พร้อมรับเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 450,000 บาท ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้
โครงการ "The Challenge - Packaging Design Contest 2018" ได้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยในปีนี้มาพร้อมแนวคิดที่ปลดล็อกให้นักศึกษาที่สนใจด้านการออกแบบ ให้มีความเข้าใจในด้านการตลาดซึ่งสำคัญไม่แพ้งานดีไซน์ กับโจทย์การแข่งขันออกแบบบรรจุภัณฑ์ 4 โจทย์ อาทิ ชั้นแสดงสินค้าทำจากกระดาษสำหรับสินค้าประเภทเครื่องสำอาง ชั้นแสดงสินค้าทำจากกระดาษสำหรับสินค้าประเภทน้ำผลไม้ บรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารโดยตรงสำหรับบริการจัดส่ง และออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันที (Ready Meal) ซึ่งผู้เข้ารอบทั้ง 24 ทีมจากการคัดเลือกในเดือนพฤษภาคม ได้เข้าร่วมเวิร์คช็อป Marketing Camp "Customer Excellence 4.0" โดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตลาดจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับคำปรึกษาปรับแบบกับนักออกแบบจากธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และเข้ามานำเสนอผลงานในเดือนนี้ พร้อมรอฟังการตัดสินอย่างลุ้นระทึก จากคณะกรรมการหลากหลายสาขาที่มาร่วมตัดสิน อาทิ ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ประธานหลักสูตรปริญญาโท สาขาแบรนด์และการตลาด (ภาคภาษาอังกฤษ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณสมชนะ กังวารจิตต์ ผู้ก่อตั้งและครีเอทีฟไดเรกเตอร์ Prompt Design และนายกสมาคมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทย (ThaiPDA) รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์นักออกแบบชื่อดังจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณปรินดา อัครภาพ ผู้จัดการ Design Solution Center, Packaging Business, SCG คุณวรรณา สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้จัดการ Packaging Program, SPEC, Packaging Business, SCG
รวมทั้งคณะกรรมการจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในแต่ละโจทย์ อาทิ คุณอัญชลี สุวัฒน์วงศ์ชัย ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตและซัพพลายเชน และผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ฟารีส ผู้ผลิตเครื่องสำอางมิสทีน คุณโอภาส โลพันธ์ศรี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตน้ำผลไม้มาลี คุณกำธร ศิลาอ่อน รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสสายการผลิตและซัพพลายเชน บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) คุณคำนึง พฤกษวานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมทวีวงษ์ จำกัด ผู้ผลิตปูอัดเบนโตะ ซึ่งการพิจารณาผลงานจะเปิดให้ผู้เข้ารอบนำเสนอต่อเนื่อง 6 ทีมเรียงกันไปต่อ1 โจทย์ โดยมีเวลานำเสนอทีมละ 10 นาที และคณะกรรมการจะตั้งคำถามและให้ข้อคิดเห็นภายใน 5 นาที ท่ามกลางความตื่นเต้นและตึงเครียด ผู้เข้าประกวดต้องนำเสนอผลงานให้น่าสนใจ ซึ่งจะมีผลต่อคะแนนการตัดสินด้วย
คำถามที่กรรมการมักดึงมาถามจะเกี่ยวกับเรื่องของการนำสิ่งที่ออกแบบไปใช้ได้จริงหรือไม่ และชี้ถึงข้อจำกัดของตัวงานซึ่งท้าทายผู้เข้าประกวดให้ตอบเพิ่มเติมบนเวที หรือหาทางแก้ไขผลงานในอนาคตหากนำไปผลิตจริง ตั้งแต่การวางตำแหน่งแบรนด์และสินค้าในตลาดพร้อมเทียบกับคู่แข่ง ไปจนถึงการมองพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคในแบบที่คาดไม่ถึง เช่น ชั้นแสดงสินค้าจำพวกลิปสติก ถ้าเจอลูกค้าใส่สินค้าคืนแบบสลับสีกันหมดในช่องที่เปิดให้ใส่เฉพาะด้านบนจะทำอย่างไร หรืออาหารพร้อมบริโภคที่มาพร้อมน้ำจิ้มและไม้เสียบแหลม จะออกแบบอย่างไรให้อุ่นและรับประทานสะดวกที่สุด เป็นต้น
สำหรับรางวัลผู้ชนะเลิศในโจทย์ต่าง ๆ ซึ่งผู้ชนะเลิศแต่ละทีมจะได้รับเงินรางวัลทีมละ 50,000 บาท มีผลงานเด็ด ๆ ดังนี้
โจทย์ที่ 1 : Merchandising Display for Beauty Product - ชั้นแสดงสินค้าทำจากกระดาษสำหรับสินค้าประเภทเครื่องสำอาง ผู้ชนะเลิศได้แก่ผลงานTREAT x Thai Tone โดย นางสาวนภัสสร เรืองศิริ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานชั้นวางเครื่องสำอางที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก "ไทยโทน" โทนสีเอกลักษณ์ไทย เรียบง่ายแต่มีสไตล์ ที่ทั้งยกระดับสินค้าท้องถิ่นด้วยความออแกนิค ทำให้ผู้ใช้รู้สึกดีและเข้าถึงง่าย ตอบโจทย์คนเจนเนอเรชัน Z ที่มักอ่านรีวิวออนไลน์แต่จะเดินทางมาซื้อด้วยตัวเอง
โจทย์ที่ 2 : Merchandising Display for Juice Product – ชั้นแสดงสินค้าทำจากกระดาษสำหรับสินค้าประเภทน้ำผลไม้ ผู้ชนะเลิศได้แก่ผลงาน JuicyTime โดย นายพีรวิชญ์ เอื้อการรักษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ชูเรื่องของน้ำผลไม้ที่ดื่มได้ตามเวลาที่เหมาะสม สะท้อนโจทย์คนปัจจุบันที่มักซื้อน้ำผลไม้ติดตู้เย็นไว้แต่ไม่กล้าดื่มตอนเย็นหรือตอนกลางคืนเพราะกลัวเรื่องความอ้วน จึงนำเสนอเรื่องของเวลาที่ควรดื่มด้วยการใช้สีตั้งแต่ย่ำรุ่ง กลางวัน และตอนค่ำ พร้อมแบ่งประเภทของน้ำผลไม้ที่ออกแบบมาให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าตั้งแต่อายุ 25-50 ปี
โจทย์ที่ 3 : Food Packaging for Delivery - บรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารโดยตรงสำหรับบริการจัดส่ง ผู้ชนะเลิศได้แก่ผลงาน PULL2FULL โดย นายพชร กังสดาลพิภพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกาจบัณฑิต เหมือนโถม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่คิดไกลถึงขั้นทำกล่องอาหารไทยให้มีการซีลแยกข้าว แยกกับข้าว และแกะทุกอย่างออกได้ด้วยการดึงลิ้นจากปากกล่องเพียงครั้งเดียว ไม่มีการรั่วซึม แถมยังบริหารจัดการได้ง่ายเพราะมีการออกแบบแอพพลิเคชันให้ผู้ขายพิมพ์ฉลากแปะหน้าบรรจุภัณฑ์ได้ทันทีเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา ตอบโจทย์ความสะดวกตั้งแต่ผู้ประกอบการไปจนถึงผู้บริโภคเลยทีเดียว
โจทย์ที่ 4 : Eat Anywhere Packaging - ออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันที (Ready Meal) ผู้ชนะเลิศได้แก่ผลงาน ขยำเชค โดย นางสาวทิพรดา นฤนาทวานิช และนางสาวณิชกานต์ พิริยะพันธุ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่พลิกโฉมการรับประทานลูกชิ้นปลาด้วยการผสานน้ำจิ้มเข้าไป จนออกมาเป็นลาบ ยำ และแจ่ว ที่สามารถอุ่นด้วยไมโครเวฟได้โดยไม่ต้องฉีกซอง ไม่ต้องใช้กรรไกร และไม่หกเลอะเทอะ ให้ผู้บริโภคเขย่าแทนการคลุกเคล้าก่อนรับประทาน
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมแข่งขันที่เข้ารอบทีมอื่น ๆ ทุกทีม จะได้รับรางวัลตามลำดับลงไปตั้งแต่ รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง (เงินรางวัล 30,000 บาท) รองชนะเลิศอันดับสอง (เงินรางวัล 15,000 บาท) รางวัลชมเชย (เงินรางวัล 5,000 บาท) และรางวัล Popular Vote จากการนับยอดไลค์ของผลงานที่โพสต์ลงเพจเฟซบุ๊กของเอสซีจี(เงินรางวัล 10,000 บาท) เรียกได้ว่ามาถึงจุดนี้ไม่มีใครกลับบ้านมือเปล่าแน่นอน
นางสาวนภัสสร เรืองศิริ เจ้าของผลงาน TREAT x Thai Tone กล่าวหลังจากรับรางวัลว่า "ขอบคุณมากจริง ๆ ค่ะ ความจริงแล้วหนูไม่ได้เรียนสายออกแบบผลิตภัณฑ์มาโดยตรง แต่อยากจะบอกว่าถ้ามีความสนใจและใจรักที่อยากจะทำ ก็สามารถทำให้สำเร็จได้ ถึงเหนื่อยแต่ก็สนุกมาก เพราะโจทย์น่ารัก ทำให้เราโตขึ้นไปอีกขั้นจากการเข้าร่วมการอบรมด้วยค่ะ"
ในขณะที่ นายพีรวิชญ์ เอื้อการรักษ์ เจ้าของผลงาน Juicy Time ที่ประสบความสำเร็จหลังจากส่งผลงานกับกิจกรรมนี้ต่อเนื่องมาเป็นปีที่สาม กล่าวเสริมว่า "มันเป็นความผูกพันที่เรามาสองปีแล้ว เราก็อยากจะมาอีกปีที่สาม ไม่ได้คาดหวังอะไร แค่อยากมาเจอทุก ๆ คน ดีใจมาก ๆ ครับ ขอบคุณครับ"
และเพราะความพยายามไม่เคยทำร้ายสักคนที่ตั้งใจ ไม่สำเร็จปีนี้ก็หมั่นฝึกฝนกันต่ออย่างไม่ย่อท้อ สำหรับปีหน้า น้อง ๆ นิสิตนักศึกษาที่สนใจการออกแบบผลิตภัณฑ์ อยากทดลองสร้างผลงานมาประกวด ประชันไอเดียกันอย่างสนุกสนานและได้ความรู้แบบนี้ อย่าลืมติดตามความคืบหน้าของกิจกรรม The Challenge ของธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในเอสซีจี ได้ในปีต่อไป