กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมสืบสานศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 และเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันพระราชสมภพในหลวงรัชกาลที่ 10 ชู "โครงการปลูกป่าและไม้ยืนต้นสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงฯ" พร้อมบูรณาการร่วมกับ 11 หน่วยงานบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการฝนหลวง
วันที่ 19 กรกฎาคม 2561 เวลา 09.30 น. นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการปลูกป่าและไม้ยืนต้นสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง สืบสาน "ศาสตร์พระราชา" ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ณ เขื่อนวชิราลงกรณ์ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ร่วมกับ 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ปลูกต้นรวงผึ้งจำนวน 12 ต้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรและถือเป็นมหามิ่งมงคลตลอด 12 เดือน ซึ่งต้นรวงผึ้งเป็นต้นไม้มงคลอันทรงคุณค่าที่ถูกยกให้เป็นพรรณไม้ประจำรัชกาลที่ 10 ถือเป็นดอกไม้ประจำวันพระราชสมภพพอดี (ช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม) สีเหลืองของต้นรวงผึ้งยังเป็นสีประจำวันพระราชสมภพอีกด้วย โดยมีนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติวันพระราชสมภพในหลวงรัชกาลที่ 10 และเป็นการน้อมนำแนวคิดสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ สืบสาน "ศาสตร์พระราชา" ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศให้มากขึ้นซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำฝนหลวงให้ประสบผลสำเร็จเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมให้กลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมกับสร้างผืนป่าให้เกิดความชุ่มชื้นเพื่อเป็นการเพิ่มป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักในคุณค่าของป่าต้นน้ำและการเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษาระบบนิเวศป่าไม้และสิ่งแวดล้อม การปลูกป่าไม้ ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน และไม้ยืนต้นบริเวณหัวไร่ปลายนา ซึ่งจะเป็นการสร้างแหล่งอาหารแก่สัตว์ป่าในการดำรงชีวิต และช่วยเอื้อประโยชน์ต่อพื้นที่ชุมชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้มีการปลูกต้นแคฝรั่ง โดยนักเรียนนักศึกษา อาสาสมัครฝนหลวง และเกษตรกรในบริเวณเขื่อนวชิราลงกรณ์ จำนวน 200 ต้น อีกด้วย
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า จากวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรป่าไม้ที่ถูกทำลายซึ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่ลดลง ส่งผลต่อกระบวนการเกิดฝนและปริมาณน้ำฝนตามธรรมชาติเกิด
ความผิดปกติ จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้การฟื้นฟูผืนป่าเกิดประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ อีกทั้งเมื่อป่าเกิดความสมบูรณ์ก็จะทำให้ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยการเพิ่มโอกาสสำหรับการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงให้ประสบความสำเร็จเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฯ แบ่งเป็น 3 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย 1) กิจกรรม
พิธีเปิดโครงการในวันนี้ (19 กรกฎาคม 2561) ณ บริเวณเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี 2) กิจกรรมการปลูกป่าและไม้ยืนต้น ดำเนินการตั้งแต่เริ่มเปิดปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2561 (วันที่ 1 มีนาคม – 30 กันยายน 2561) โดยร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน อาทิ ศูนย์ปฏิบัติงานฝนหลวงทั่วประเทศ สถานศึกษา อาสาสมัครฝนหลวงภูมิภาคต่างๆ เป็นต้น และ 3) กิจกรรมโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 5 ภูมิภาค ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2561 โดยดำเนินการพร้อมกับการปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละวัน ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ ได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงแต่ละภูมิภาค ดำเนินกิจกรรมการปลูกป่าและไม้ยืนต้น และกิจกรรมการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ดังนี้
ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ดำเนินการปลูกป่าและไม้ยืนต้นบริเวณพื้นที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ ขนาดพื้นที่ 5 ไร่ ชนิดกล้าไม้ ได้แก่ ประดู่ ตะเคียน ยางนา มะขามป้อม ขนุน ชมพู่ และมะม่วง ซึ่งได้รับการสนับสนุนกล้าไม้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา สำหรับกิจกรรมโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ดำเนินการบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จ.เชียงใหม่ ขนาดพื้นที่ 900 ไร่ โดยใช้ชนิดเมล็ดพันธุ์มะค่าโมง มะขามป้อม สมอพิเภก และสัก
ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินการปลูกป่าและไม้ยืนต้นบริเวณพื้นที่สาธารณประโยชน์ สระโศกเดือนห้า อบต.แดงใหญ่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ขนาดพื้นที่ 80 ไร่ ชนิดกล้าไม้ ได้แก่ พะยูง เต็ง รัง แดง และประดู่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนกล้าไม้จากศูนย์เพาะชำกล้าไม้ อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น สำหรับกิจกรรมโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ดำเนินการบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ขนาดพื้นที่ 3,100 ไร่ โดยใช้ชนิดเมล็ดพันธุ์มะค่าแต้และมะขามป้อม
ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก ดำเนินการปลูกป่าและไม้ยืนต้นบริเวณพื้นที่ชุมชนนาหลวง ต.บ้านด่าน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ขนาดพื้นที่ 10 ไร่ ชนิดกล้าไม้ ได้แก่ ประดู่ ยางนา และตะแบก ซึ่งได้รับการสนับสนุนกล้าไม้จากสำนักจัดการทรัพยากรที่ 9 สาขาปราจีนบุรี สำหรับกิจกรรมโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ดำเนินการบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา จ.สระแก้ว ขนาดพื้นที่ 6,900 ไร่ โดยใช้ชนิดเมล็ดพันธุ์ มะค่าโมง ประดู่ และแดง
ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง ดำเนินการปลูกป่าและไม้ยืนต้นบริเวณพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ขนาดพื้นที่ 7 ไร่ ชนิดกล้าไม้ ได้แก่ มะค่า ซึ่งได้รับการสนับสนุนกล้าไม้จากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่ สำหรับกิจกรรมโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ดำเนินการบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวและอุทยานแห่งชาติคลองลำงู ขนาดพื้นที่ 3,500 ไร่ ชนิด โดยอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ใช้ชนิดเมล็ดพันธุ์สาธร สีเสียด พฤกษ์ และแดง และอุทยานแห่งชาติคลองลำงู ใช้ชนิดเมล็ดพันธุ์มะค่า ประดู่ และไผ่รวก
ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ดำเนินการปลูกป่าและไม้ยืนต้นบริเวณพื้นที่สำนักเขื่อนไม้เต็ง อ.เมือง จ.ราชบุรี ขนาดพื้นที่ 30 ไร่ ชนิดกล้าไม้ ได้แก่ ประดู่ ยางนา พะยูง มะค่าโมง แดง และรวงผึ้ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนกล้าไม้จากสถานีเพาะพันธุ์กล้าไม้ราชบุรี สำหรับกิจกรรมโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ดำเนินการบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และอุทยานแห่งชาติไทยประจันต์ จ.ราชบุรี ขนาดพื้นที่ 600 ไร่ โดยใช้ชนิดเมล็ดพันธุ์มะค่าโมง ประดู่ และมะขามป้อมป่า
นอกจากนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดทำแอพพลิเคชั่นระบบติดตามการปลูกต้นไม้ "Collector for ArcGIS" เพื่อช่วยติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าวด้วยตนเอง เพิ่มความสะดวกในการติดตามข้อมูลการปลูกต้นไม้ได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น อาทิ พื้นที่ปลูก ชื่อผู้ปลูก ชื่อต้นไม้ที่ปลูก การดูแลรักษา เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์/เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และการรายงานข่าวการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย