กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--มรภ.สงขลา
ครุศาสตร์ มรภ.สงขลา ดึงครูปฐมวัยฝึกกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เผยเด็กช่วงอายุ 0-6 ปีเป็นวัยสำคัญต่อการกำหนดคุณภาพตลอดชีวิต แนะใช้วิทยาศาสตร์จัดกระบวนการเรียนรู้ ชี้ช่วยพัฒนาสมองทุกส่วน
ดร.มนตรี เด่นดวง คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการอบรมจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยตามโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย ให้แก่ครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็กในโรงเรียนเทศบาลและศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยสังกัด ต.เขารูปช้าง และนักศึกษาโปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัยชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ว่าวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความเข้าใจและฝึกใช้กระบวนการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์ สำหรับนำไปใช้ในห้องเรียนปฐมวัย และเพื่อให้นักศึกษาครุศาสตร์ฝึกทักษะในการถ่ายทอดความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคต นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างกัน โดย มรภ.สงขลา มุ่งหวังให้ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยในสังกัดเทศบาล มีศักยภาพในการเป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน
ดร.มนตรี กล่าวว่า จ.สงขลา กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ไว้ในแผนยุทธศาสตร์จังหวัด โดยกำหนดการพัฒนาให้ครอบคลุมทั้ง 5 ช่วงวัย และให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์ในช่วงอายุ 0-6 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญต่อการกำหนดคุณภาพตลอดชีวิตของมนุษย์ สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่าคุณภาพเด็กปฐมวัยคือคุณภาพประเทศ และในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษา จะให้ความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้ และกระบวนการหาคำตอบสำคัญกว่าคำตอบ ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายของคุณภาพดังกล่าวข้างต้น ต้องอาศัยกลไกสำคัญหลายส่วน เช่น ประสิทธิภาพของกระบวนการเรียนรู้ที่ครูใช้จัดประสบการณ์ให้เด็ก สมรรถนะของครูในการใช้กระบวนการ ความเป็นเอกภาพด้านทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนาการศึกษาปฐมวัย การมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่คุณภาพใหม่ที่ถูกทิศทางอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้
ด้าน อ.ชนกพร ประทุมทอง อาจารย์ประจำหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา ผู้เสนอโครงการ กล่าวว่า การดำเนินการเพื่อยกระดับสมรรถนะของครูให้เกิดทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์ เป็นหนึ่งในปัจจัยจำเป็นที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษา กระบวนการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการแอคทีฟ เลิร์นนิง (Active Learning) ที่ทำให้เกิดการพัฒนาสมองทุกส่วน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาพหุปัญญา และส่งเสริมพัฒนาการแบบบูรณาการครอบคลุมทุกด้าน โดยเด็กมีโอกาสพัฒนากระบวนคิด ได้ใช้ทักษะด้านต่างๆ ในการลงมือปฏิบัติเพื่อรวบรวมข้อมูลจากปรากฏการณ์ และค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ซึ่งการฝึกฝนด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์ดังกล่าว จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตในการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่กำลังประสบอยู่
อ.ชนกพร กล่าวอีกว่า ครูซึ่งเป็นกลไกหลักในการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และมีทักษะในการใช้กระบวนการอย่างถูกต้อง รวมถึงสามารถวิเคราะห์และประเมินพัฒนาการที่เกิดขึ้นในเด็กได้ตรงกับสภาวะจริง ซึ่งจะส่งผลให้สามารถนำเด็กไปสู่การมี Learning Skill Life Skill และสามารถพัฒนาให้ถึงขีดสูงสุดของศักยภาพของเด็กแต่ละบุคคลได้ ด้วยความสำคัญดังกล่าวโปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัย จึงจัดอบรมพัฒนาสมรรถนะครูในครั้งนี้ขึ้น โดยผู้เข้าอบรมได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่อง น้ำ อากาศ และโครงงานวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งฝึกทักษะการจัดโครงงานวิทยาศาสตร์และการผ่านเกณฑ์โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยฯ