กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--มรภ.สงขลา
อาจารย์ มรภ.สงขลา ใช้อาชาบำบัดเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มออทิสติก เผยงานวิจัยชี้ช่วยลดอาการวอกแวก เพิ่มความมั่นคงทางอารมณ์ พร้อมดึงสัมผัสธรรมชาติสายลม เสียงคลื่นหาดสมิหลา กระตุ้นความสนใจ
ผศ.ณัฐรินทร์ แซ่จุง ประธานโปรแกรมวิชาการศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงโครงการอาชาริมหาดสำหรับเด็กกลุ่มอาการออทิสติก ว่า วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นพัฒนาการในด้านความรู้สึกและการรับรู้เข้าใจ ด้านการเข้าสังคม และด้านสุขภาพร่างกาย โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ปกครองและเด็กกลุ่มอาการออทิสติกอายุระหว่าง 3-5 ปี ที่เข้ารับบริการ ณ หน่วยบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว สถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา เนื่องจากเล็งเห็นว่าการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้นอกเหนือจากการฝึกด้านพัฒนาการและรักษาด้วยยาแล้ว การบำบัดด้วยวิธีการต่างๆ ก็สามารถช่วยให้เด็กได้รับการกระตุ้นพัฒนาการให้ดีขึ้นได้ โดยการบำบัดอย่างหนึ่งที่กำลังเป็นที่น่าสนใจคือการบำบัดด้วยสัตว์ ซึ่งช่วยในการรับรู้สัมผัส เสริมสร้างสมาธิ ให้สัมผัสที่อบอุ่น ปลอดภัยและเป็นมิตร เพิ่มแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งยังช่วยสร้างสัมพันธภาพและการตอบสนองทางอารมณ์ด้วย
ผศ.ณัฐรินทร์ กล่าวว่า การขี่ม้าริมชายหาดทำให้ผู้ขี่ได้รับการบำบัดจากการรับลมที่พัดโบกจากทะเล ฟังเสียงคลื่นที่ซัดสาด ได้กลิ่นอายจากทะเล ซึ่งสงขลาเป็นจังหวัดที่ไม่มีศูนย์ทหารม้าที่รับบำบัดเด็กกลุ่มนี้ หากต้องการบำบัดรักษาหรือกระตุ้นพัฒนาการโดยใช้อาชาบำบัดแบบเต็มรูปแบบ ผู้ปกครองจะต้องเดินทางไปถึง จ.ปัตตานี เกือบใต้สุดแดนสยาม ทำให้การเดินทางไม่สะดวก และอาจไม่สามารถพาไปได้อย่างต่อเนื่อง แต่สงขลามีลักษณะภูมิประเทศที่มีพื้นที่ติดทะเล มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญคือหาดสมิหลา เด็กได้ชี้ชวนกันดูน้ำ ได้รับรู้เสียงคลื่นกระทบฝั่ง สัมผัสสายลมที่พัดผ่านกาย ช่วยให้ผ่อนคลาย ประกอบกับหน่วยงานรัฐสนับสนุนให้มีกิจกรรมขี่ม้าไว้บริการ เพื่อนำนักท่องเที่ยวชมวิวทิวทัศน์อันสวยงาม จึงเป็นสถานที่ที่เอื้อต่อการให้ผู้ปกครองเข้าถึงการกระตุ้นพัฒนาการและการช่วยเหลือเด็กกลุ่มอาการออทิสติกได้สะดวกและง่ายขึ้น
ประธานโปรแกรมวิชาการศึกษาพิเศษ กล่าวอีกว่า การใช้อาชาบำบัดเป็นการดึงเขาออกมาสัมผัสและรับรู้โลกภายนอก โดยมีสัตว์เป็นเสมือนสื่อกลางที่นอกจากจะพาเขาโลดแล่นไปมาแล้ว ยังช่วยเชื่อมโยงก่อเกิดความสัมพันธ์กับคนอื่น เรียนรู้ที่จะสื่อสารกับโลกภายนอกมากขึ้น ซึ่งจากรายงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า การใช้ม้าในการบำบัดเด็กกลุ่มอาการออทิสติกทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสังคมดีขึ้น มีการรับรู้และไวต่อการสัมผัส ลดอาการวอกแวกง่าย การแยกตัวและช่วยเพิ่มความเข้าใจทางอารมณ์ นอกจากนั้น ในประเทศที่พัฒนาแล้วยังมีแนวคิดใหม่ว่า การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่มีราคาแพงไม่สามารถรักษาโรคหรืออาการทุกอย่างได้ และไม่สามารถทำให้มนุษย์มีสุขภาพที่ดีได้ จึงหันมาสนใจศาสตร์ในสมัยโบราณที่อาศัยการรักษาด้วยปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ ลม (อากาศ) และแร่ธาตุต่างๆ ดังเช่นวิธีการรับลมที่พัดโบกตามธรรมชาติ
นอกจากม้าแล้ว ยังสามารถใช้สัตว์อื่นๆ อย่าง ช้าง กระบือ กระต่าย ในการบำบัดได้ด้วย แต่เหตุผลที่เลือกม้าเพราะก้าวย่างเป็นจังหวะ ซึ่งจะช่วยเรื่องกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว สมาธิ ลดภาวะไม่อยู่นิ่ง อย่างไรก็ตาม ผลจากการบำบัดจะแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของอาการเด็กด้วย ซึ่งในการวัดผลความสำเร็จของโครงการ ทางเราขอความร่วมมือผู้ปกครองในการวัดผลพฤติกรรม และทดสอบพฤติกรรมและพัฒนาในด้านการรับรู้ ความเข้าใจ ทักษะทางสังคม ทักษะทางการเคลื่อนไหว โดยให้ผู้ปกครองถ่ายวิดีโอไว้ด้วย เนื่องจากผู้ปกครองถือเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด และสามารถต่อยอดพัฒนาการให้เด็กต่อไปได้
"เราวางแผนไว้ว่าอยากจะทำวิจัยให้เด็กพิเศษประเภทอื่นๆ ทั้งหมด เพื่อให้พวกเขามีพัฒนาการที่ดีขึ้น เพราะจริงๆ แล้วเด็กออทิสติกมีศักยภาพและไอคิวสูงมาก หากเราได้ช่วยแต่เนิ่นๆ ด้วยวิธีที่ถูกต้อง จะช่วยให้เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ ที่สำคัญ ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง เสียดายว่าด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทำให้เราไม่สามารถดำเนินการช่วยเหลือในลักษณะนี้กับเด็กประเภทอื่นๆได้ ซึ่งหากในอนาคตมีการสนับสนุนมากขึ้น คาดว่าจะช่วยให้เด็กพิเศษกลุ่มอื่นๆ ได้รับการช่วยเหลือดูแลได้มากยิ่งขึ้น" ประธานโปรแกรมวิชาการศึกษาพิเศษ กล่าว