กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--มรภ.สงขลา
คณะเทคโนโลยีเกษตร มรภ.สงขลา ลงพื้นที่ จ.พัทลุง แนะแนวทางเกษตรกรจัดการดินและปุ๋ย พร้อมสอนวิธีทำปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุเหลือทิ้งในท้องถิ่น หวังช่วยแก้ปัญหาต้นทุนผลิตสูง
ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า คณาจารย์และนักศึกษาโปรแกรมวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่เกษตรกรบ้านท่ามะเดื่อ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการจัดการดินและปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากปัจจุบันพบว่าบ้านท่ามะเดื่อซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ทำเกษตรกรรม และมีพืชเศรษฐกิจสำคัญคือข้าว โดยเฉพาะข้าวพื้นเมืองที่เป็นที่รู้จักกันดีคือข้าวสังข์หยด ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตจากปุ๋ยและสารเคมีสูงขึ้น แต่ผลผลิตพืชกลับลดลง ดังนั้น ตนจึงมีแนวคิดที่จะยกระดับความรู้ด้านดินและปุ๋ยให้แก่เกษตรกร เพื่อช่วยให้สามารถจัดการดินและใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตได้ด้วยตนเอง นอกจากนั้น ยังสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุเหลือทิ้งที่มีในท้องถิ่น เป็นการลดรายจ่ายและสร้างรายได้จากการผลิตผักปลอดสารเคมีให้กับครอบครัว อันจะนำไปสู่การพึ่งตนเองบนฐานเศรษฐกิจพอเพียง
ผศ.ดร.อมรรัตน์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการวิจัยเชิงรุกและบริการวิชาการเชิงล้ำ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นสู่มาตรฐานสากล ก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรอื่นๆ เพื่อพัฒนาท้องถิ่น ที่สำคัญ มีความสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ของทางคณะฯ ในการสร้างองค์ความรู้สู่ชุมชน ซึ่งมีเป้าประสงค์ให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง โดยแบ่งการอบรมออกเป็น 4 กิจกรรมย่อย ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 ประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดินและการจัดการ กิจกรรมที่ 2 ฝึกผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต กิจกรรมที่ 3 เรียนรู้เทคนิคการลดต้นทุนการผลิตพืชไร่ และ กิจกรรมที่ 4 ติดตามความก้าวหน้าของกลุ่มตัวอย่าง โดยตนและคณาจารย์ในโปรแกรมวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ประกอบด้วย ดร.ศุภัครชา อภิรติกร อ.ปริยากร บุญส่ง ผศ.ดร.คริษฐ์สพล และ อ.ธัชวีร์ ขวัญแก้ว คอยให้คำแนะนำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
ด้าน ผศ.ดร.คริษฐ์สพล หนูพรหม ประธานโปรแกรมวิชาเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม รายได้ส่วนใหญ่ของมาจากการเกษตร แต่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของพืชต่างๆ ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตาม การที่จะเพิ่มผลผลิตจำเป็นต้องคำนึงถึงดินซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการปลูกพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวการณ์ปัจจุบันที่พยายามหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์วิทยา การจัดการดิน ปุ๋ย และพืชให้เหมาะสมกับสภาพปัญหา และมีผลต่อการเพิ่มระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งจะเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ดินมีศักยภาพในการให้ผลผลิตพืชสูงมากขึ้น
"ดินในพื้นที่ อ.บางแก้ว ขาดความอุดมสมบูรณ์ ดินเป็นกรด ดินเปรี้ยว ทำให้มีปัญหาต่อการปลูกพืช เกษตรปลูกพืชได้ไม่ดี ผลผลิตตกต่ำ เพราะดินเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการผลิตพืช ซึ่งดินที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกควรมีอนินทรียวัตถุ 45% น้ำและอากาศอย่างละ 25% และอินทรียวัตถุประมาณ 5% โดยปริมาตร แต่พื้นที่การเกษตรของประเทศไทย 149.25 ล้านไร่ เป็นดินที่มีอินทรียวัตถุต่ำกว่า 1.5% ประมาณ 98.7 ล้านไร่ โดยอินทรียวัตถุมีความสำคัญในการช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งต้นทุนการผลิตในส่วนของปุ๋ยเคมีเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 23 และเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องการจัดการดินและปุ๋ยที่ถูกต้อง ดังนั้น ในฐานะที่ มรภ.สงขลา เป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จึงลงพื้นที่บริการวิชาการแก่เกษตรกรในชุมชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง" ผศ.ดร.คริษฐ์สพล กล่าว