เอแบคประกาศความพร้อมเต็มร้อยเป็นเจ้าภาพไทยจัดงานโต้วาที ม. โลกครั้งที่ 28

ข่าวทั่วไป Friday December 14, 2007 15:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--แอกเซส แอนด์ แอสโซซิเอทส์
เอแบคประกาศความพร้อมเต็มร้อยเป็นเจ้าภาพไทยจัดงานโต้วาที ม. โลกครั้งที่ 28 ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กษัตริย์ผู้ครองราชย์นานที่สุดในโลก
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอแบค ได้รับการคัดเลือกจากสภาโต้วาทีมหาวิทยาลัยโลก รับเป็นเจ้าภาพจัดงานการ “แข่งขันโต้วาทีมหาวิทยาลัยโลก ครั้งที่ 28” (28th World Universities Debating Championship Competition) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ในโลกกว่าทุกครั้งที่จัดมา ผู้ชนะเลิศได้ถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกษัตริย์ผู้ครองราชย์นานที่สุดในโลก งานนี้มีสถาบันการศึกษาระดับชั้นแนวหน้าของโลกตบเท้าเข้าร่วมกว่า 400 ทีม โดยใช้รูปแบบโต้วาทีแบบรัฐสภาอังกฤษ (British Parliamentary Style) แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน งานนี้จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 28 ธันวาคม ถึง 4 มกราคม ปี 2551 ใช้งบประมาณในการจัดงานแข่งขันเกือบ 30 ล้านบาท
ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรกและยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โต้วาที ม. โลก ดร. บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษาในปีพุทธศักราช 2550 ทางมหาวิทยาลัยในนามประเทศไทยได้ถือวโรกาสอันเป็นมหามงคลนี้ เสนอต่อสภาโต้วาทีมหาวิทยาลัยโลก (World Universities Debating Council) ในการขอเป็นเจ้าภาพจัด “การแข่งขันโต้วาทีมหาวิทยาลัยโลก ครั้งที่ 28” (28th World Universities Debating Championship Competition) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โดยการจัดการแข่งขันครั้งนี้ ได้ผ่านการอนุมัติเป็นเอกฉันท์จากผู้แทนประเทศต่างๆ ทั้งหมดรวม 50 ประเทศ ถือเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทยและเป็นการจัดงานที่ยิ่งใหญ่สุดในโลกกว่าที่เคยจัดมาถึง 27 ครั้ง ในด้านของการแข่งขันโต้วาทีมหาวิทยาลัยโลกเชิงวิชาการในภาคภาษาอังกฤษของนักศึกษา และ ประเทศไทยก็ถือเป็นประเทศที่ 4 ในทวีปเอเชียที่ได้รับคัดเลือกจัดงานดังกล่าว สำหรับรูปแบบของการจัดงานครั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ใช้ชื่อว่า “Assumption Worlds 2008”
ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจสำหรับประเทศไทยในปีนี้ ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานยิ่งใหญ่ระดับโลกด้วยการ 2 งาน คือ “งานแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก ฤดูร้อน” ที่จัดผ่านไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นงานแข่งขันในด้านของกีฬาของนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก และ อีกงานหนึ่งคือ “งานแข่งขันโต้วาทีมหาวิทยาลัยโลก” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 28 ธันวาคม ถึง 4 มกราคม ปี 2551 ถือเป็นงานแข่งขันวิชาการของปัญญาชนนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดที่จัดขึ้นในประเทศไทย
ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่มีสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าจากทุกทวีปทั่วโลก และจำนวนนักโต้วาทีระดับอัจฉริยะ รวมกับคณะกรรมการผู้ตัดสินเข้าร่วมที่ถือว่ามากสุดเป็นประวัติการณ์จำนวนกว่า 1,500 คน จากประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมมากกว่า 50 ประเทศ ทั่วโลก เนื่องจากผู้เข้าร่วมงานจากประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ จะได้ประจักษ์ถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อปวงชนชาวไทยและพระปรีชาญาณของพระองค์ในฐานะผู้ทรงเป็นปราชญ์และนักพัฒนา ตลอดจนความจงรักภักดีของพสกนิกรที่มีต่อพระองค์ท่าน โดยจะได้ร่วมสดุดีและเฉลิมพระเกียรติ ฯ พร้อมกับผู้แทนนักศึกษาไทยที่เข้าร่วมกิจกรรม
ประกอบกับเป็นครั้งแรกเหมือนกัน ที่ผู้ชนะเลิศการแข่งขันโต้วาทีมหาวิทยาลัยโลก จะได้รับรางวัลถ้วยพระราชทาน (Royal Trophy) จากพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก เพราะจะว่าไปแล้วการจัดงานแข่งขันในช่วง 27 ครั้งที่ผ่านมา ไม่เคยมีการมอบถ้วยรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศในลักษณะนี้ จึงเป็นเหตุให้มีสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมกว่า 50 ประเทศได้เสนอชื่อเข้าร่วมแข่งขันไม่ต่ำกว่า 700 ทีม ซึ่งถือมากที่สุดเป็นประวัติการณ์กว่าทุกครั้ง ที่เคยจัดงานมา
แต่ทางเจ้าภาพในฐานะผู้จัดการแข่งขันครั้งนี้ ไม่สามารถรองรับการแข่งขันได้ทั้งหมดถึง 700 ทีม จำเป็นต้องคัดเลือกให้เหลือเพียง 400 ทีม เพื่อให้เกิดการกระจายการเข้าร่วมการแข่งขันมากที่สุด เพราะบางมหาวิทยาลัยมีการส่งทีมเข้ามาร่วมการแข่งขันจำนวนมากจริง ๆ ด้วยเหตุนี้ทางเจ้าภาพคือ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จึงมีข้อกำหนดในการแข่งขันครั้งนี้ด้วยการให้แต่ละมหาวิทยาลัยส่งทีมเข้ามาร่วมได้ไม่เกิน 5 ทีม ทีมละ 2 คน
ระยะเวลาการแข่งขัน
สำหรับการแข่งขันดังกล่าวจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2550 — 4 มกราคม 2551 ณ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตสุวรรณภูมิ (บางนา — ตราด กิโลเมตรที่ 26) โรงแรม แอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน และโรงละครไทยอลังการ จังหวัดชลบุรี เริ่มต้นเป็นการแข่งขันโต้วาทีรอบมือเก่าระดับโลก (Masters Round) วันที่ 29 - 31 ธันวาคม เป็นการแข่งขันรอบเก็บคะแนน (Preliminary Round) รวม 9 รอบ (วันละ 3 รอบ 3 วัน) ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตสุวรรณภูมิ
สำหรับวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2550 ซึ่งเป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นธรรมเนียมที่จะมีการประกาศผลการแข่งขันรอบเก็บคะแนนหลังเที่ยงคืนเมือเข้าสู่วันใหม่ เรียกว่า Break Night ณ สวนสยาม โดยจะมีผู้ผ่านเข้ารอบ 32 ทีม จาก 400 ทีมและกรรมการผู้ตัดสินที่เข้ารอบ 60 คน
จากนั้นวันที่ 2 - 4 มกราคม ปี 2551 ก็จะเริ่มการแข่งขันรอบรองสุดท้าย ที่โรงแรม แอมบาสเดอร์ จอมเทียน ส่วนในตอนเย็นและค่ำของวันที่ 4 มกราคม ปี 2551 จะเป็นการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ (Grand Final) พิธีมอบรางวัลและเลี้ยงอำลา ณ โรงละครไทยอลังการ พัทยา รวมทั้งการส่งมอบการจัดงานแข่งขันครั้งที่ 29 ให้กับทางประเทศไอร์แลนด์ ที่จะรับเป็นเจ้าภาพต่อไป
มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขัน
ส่วนทางด้านรายละเอียดเกี่ยวกับสถาบันการศึกษาเกือบ 200 แห่ง ที่เข้าร่วมการแข่งขันนั้น ถือได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกและมหาวิทยาลัยชั้นนำจากแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยเยล มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เอ็มไอที เป็นต้น ส่วนสถาบันอุดมศึกษาของไทยมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะที่เอแบคในฐานะเป็นเจ้าภาพจัดงาน ไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ตามกฎของสภาโต้วาที ม. โลก
ลักษณะการโต้วาทีที่ไม่เคยจัดมาก่อนในไทย
การแข่งขันโต้วาทีมหาวิทยาลัยโลก เป็นการโต้วาทีแบบพิเศษและมีความยากกว่าการ โต้วาทีทั่วไปโดยจะโต้ทีมละ 2 คนพร้อมกัน 4 ทีมในคราวเดียวและใช้รูปแบบรัฐสภาอังกฤษ (British Parliamentary Style) แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านซึ่งแต่ละคนสามารถโต้แย้งและตั้งคำถามกันและกันได้ตลอดเวลา ผู้แข่งขันจำนวนพันกว่าคนนี้ต้องโต้วาที 9 รอบ ใน 9 หัวข้อเป็นอย่างน้อย ส่วนระยะเวลาการโต้วาทีคนละ 8 นาที การโต้วาทีแต่ละรอบใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง
โดยผู้เข้าชิงชนะเลิศจะต้องโต้วาที ถึง 13 เรื่อง ผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมและกรรมการจะทราบญัตติ ฝ่าย ชื่อกรรมการได้ไม่เกิน 15 นาทีก่อนการโต้วาทีซึ่งถือเป็นความยากมาก เพราะผู้เข้าร่วมจะไม่มีสิทธิ์ล่วงรู้หัวข้อการโต้วาทีก่อนหน้านี้เลย นอกจากนี้ระหว่างการแข่งขันหลักก็จะมีการแข่งขันประเภท ESL (ทีมที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง) และ EFL (ทีมที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ) การแข่งขันพูดในที่ชุมชน (Public Speaking) รวมทั้งการเสวนาในประเด็นเกี่ยวกับสตรี (Women Forum) และ ชาติกำลังพัฒนา (Developing Nations Forum) ไปพร้อมกันด้วย
ปัจจุบันการแข่งขันโต้วาทีมหาวิทยาลัยโลกถือได้ว่า เป็นการแข่งขันเชิงวิชาการของนักศึกษาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2524 ณ มหาวิทยาลัยกลาสโกลว์ สกอตแลนด์ ใช้รูปแบบรัฐสภาอังกฤษ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการแสวงหาความรู้ พัฒนาสติปัญญา และความคิดวิเคราะห์ตลอดจนเพิ่มพูนทักษะวาทะศิลป์ขั้นสูง
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นักศึกษาดีเด่นจากสถาบันที่มีชื่อเสียงทุกภูมิภาคทั่วโลกได้ให้ความสนใจเข้าร่วมการแข่งขัน อาทิเช่น มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์มหาวิทยาลัยเยล มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นต้น
โดยนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาของไทย อันประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เข้าร่วมการแข่งขันโต้วาทีมหาวิทยาลัยโลกด้วยหลายครั้งเช่นกัน
สำหรับการแข่งขันโต้วาทีมหาวิทยาลัยโลก มิได้มุ่งหมายในการสร้างสรรค์ความเป็นเลิศทางความคิดและสติปัญญาของนักศึกษาผู้เข้าร่วมจากนานาประเทศเท่านั้น แต่ยังจะก่อให้เกิดมิตรภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างผู้นำนักศึกษาจากทุกมุมโลก พร้อมกันนั้นยังเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศเจ้าภาพอีกด้วย
จุดประสงค์ในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีวัตถุประสงค์ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งนี้เพื่อ
1. เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา
2. เพื่อกระตุ้นเยาวชนให้สนใจพัฒนา และฝึกฝนตนเองในด้านภาวะผู้นำ
3. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อการสื่อสารขั้นสูงของนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย
4. เพื่อเผยแพร่เอกลักษณ์ วัฒนธรรมอันดีงามของไทย
5. เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้นำนักศึกษาจากนานาประเทศ
6. เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนจากทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนความคิด ความรู้ ประสบการณ์ และแสดงศักยภาพร่วมกัน โดยใช้กิจกรรมการโต้วาทีเป็นสื่อ
ผู้เข้าร่วมงาน
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ ดังนี้
- นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วโลกเข้าร่วมแข่งขันโต้วาทีกว่า 1,200 คน
- นักศึกษาและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยทั่วโลกเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน กว่า 300 คน
- นักศึกษาระดับอุดมศึกษาจากทั่วประเทศไทยที่สนใจเข้าร่วมชมการแข่งขันโต้วาทีประมาณ 3,000 คน
- นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากทั่วประเทศไทยที่สนใจเข้าร่วมชมการแข่งขันโต้วาที ประมาณ 1,500 คน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ