กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--โรงพยาบาลหัวเฉียว
พญ.รมณัฏฐ์ โรจนสุทธิ์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่า ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดเอ็นหรือกล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเรื้อรัง การรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการใช้ยา, การบริหารร่างกาย, การทำกายภาพบำบัด และในปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ทางการแพทย์ สำหรับรักษาอาการปวดเรื้อรังคือเครื่อง Shockwave เป็นทางเลือกใหม่ในการรักษา ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
กลไกของ Shockwave จะเป็นการใช้พลังงานจากคลื่นกระแทกในการกระตุ้นให้ร่างกายเกิดอาการบาดเจ็บใหม่ (Re-injury) ในบริเวณที่มีการอักเสบเรื้อรัง เพื่อตัดวงจรอักเสบเรื้อรังและกระตุ้นให้ร่างกายเกิดกระบวนการซ่อมสร้างเนื้อเยื่อใหม่ (Re-healing) นอกจากนี้ยังกระตุ้น การหลั่งสารลดปวด ทำให้บริเวณที่ปวดดีขึ้นได้
ภาวะที่นิยมใช้ Shockwave ในการรักษา ได้แก่
- การอักเสบเรื้อรังของเส้นเอ็น เช่น เอ็นศอกอักเสบ, เอ็นไหล่อักเสบ, เอ็นร้อยหวายอักเสบ และเอ็นฝ่าเท้าอักเสบหรือรองช้ำ
- การอักเสบกล้ามเนื้อเรื้อรัง เช่น ปวดบ่าเรื้อรัง, ปวดหลังเรื้อรัง และกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม
ข้อดีของการทำ Shockwave คือ เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง, มีความปลอดภัย ไม่มีการใช้รังสีใด, ใช้เวลาในการรักษาไม่มาก โดยใช้เวลาแต่ละจุดประมาณ 5 - 10 นาที ทำ 1 - 2 ครั้ง / สัปดาห์ จึงเหมาะกับผู้ไม่ค่อยมีเวลามาโรงพยาบาล
เครื่อง Shockwave แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ Radical ซึ่งให้พลังงานแบบกระจาย และ Focus ซึ่งให้พลังงานแบบเฉพาะจุด Focus Shockwave มีข้อดีกว่า Radical ในเรื่องประสิทธิภาพการรักษาเฉพาะจุด เพราะพลังงานที่ลงในแต่ละจุดจะสูงกว่า Radical รวมทั้งความระบมที่เกิดจากการรักษาจะน้อยกว่า Radical Shockwave โดยการรักษาด้วย Focus Shockwave จะต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น
ข้อควรระวังในการใช้ Shockwave คือไม่ควรใช้ในบริเวณปอด, บริเวณที่มีเครื่องกระตุ้นหัวใจ, ผิวหนังที่เป็นแผล, สตรีมีครรภ์, ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี, ผู้ที่มีภาวะเลือดแข็งตัวช้า, บริเวณที่มีการติดเชื้อ และบริเวณที่มีเนื้องอก โดยแพทย์จะทำการประเมินผู้ป่วยก่อนการรักษา เพื่อการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ