กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--คาริสม่า มีเดีย
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาขายปลีกน้ำมันของไทย ในขณะนี้ที่มีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมไปถึงเงินบาทที่อ่อนค่าลงจากระดับเฉลี่ย 31.5 บาทต่อดอลลาร์ เป็นเฉลี่ย 33.5 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์สารสนเทศพลังงาน สนพ. ระบุว่าช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐที่เพิ่มขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มทรงตัว ขณะที่ซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ได้ปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทดแทนกำลังการผลิตของเวเนซุเอลาและอิหร่าน แต่ยังมีปัจจัยที่อาจทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจากความกังวลต่อสงครามการค้าโลกที่มาจากนโยบายการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรป แคนาดาและเม็กซิโก ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงการเก็งกำไรระยะสั้นจากความไม่แน่นอนในการส่งออกน้ำมันของลิเบีย ซึ่งมาจากปัญหาความไม่สงบในประเทศและปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในสหรัฐที่ปรับลดลง
ส่วนราคาน้ำมันเบนซินในภูมิภาคปรับตัวลดลงมาจากอุปทานที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากจีนมีอาจมีการส่งออกมากขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาลจากอินโดนีเซีย อินเดียและเวียดนาม ที่จะส่งผลให้ราคาปรับขึ้นบ้าง ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงเพราะโรงกลั่นในภูมิภาคสามารถกลับมาดำเนินการตามปกติ หลังจากหยุดปิดซ่อมบำรุงและความต้องการน้ำมันดีเซลในเรือประมงลดลงเพราะเป็นช่วงมรสุม ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในกลุ่มอาเซียนส่วนใหญ่คงที่ ทั้งไทย บรูไน มาเลเซีย เมียนมา และสิงคโปร์ เมื่อเทียบกับค่าเงินแต่ละสกุลพบว่าราคาขายปลีกน้ำมันของไทยคงที่ติดต่อกัน 4 สัปดาห์อยู่ที่ 29.25 บาทต่อลิตร มีเพียงอินโดนีเซียที่ปรับเพิ่ม 300 รูเปียต่อลิตรหรือ 1.05 บาทต่อลิตร เช่นเดียวกับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลส่วนใหญ่คงที่ โดยไทยราคายังคงเดิมต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ที่ 28.79 บาทต่อลิตร โดยอินโดนีเซียมีราคาเพิ่มขึ้น 300 รูเปียต่อลิตรหรือคิดเป็น 1.05 บาทต่อลิตรเช่นกัน
ดร.ทวารัฐ กล่าวอีกว่า ภาพรวมปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในช่วงนี้ ได้แก่ การที่ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มกำลังการผลิตอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อทดแทนการผลิตน้ำมันดิบที่หายไปขอเวเนซุเอลาและอิหร่าน รวมถึงแนวโน้มการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีต้นทุนสูงกว่ากำลังการผลิตเองโดยเฉลี่ยของสหรัฐฯ และสหรัฐฯอาจจะส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากส่วนต่างราคาน้ำมันดิบเบรนท์ของอังกฤษที่สูงกว่าเวสต์เท็กซัสของสหรัฐฯถึง 10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ราคาขายปลีกน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกันขึ้นอยู่กับโครงสร้างและนโยบายการชดเชยราคาน้ำมันของประเทศนั้นๆ ในส่วนของประเทศไทย ราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น จะอ้างอิงจากราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเชีย ซึ่งก็คือตลาดสิงคโปร์ (Mean of Platts : MOP Singapore) โดย สนพ. จะติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด ผู้สนใจความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันต่างประเทศรายเดือนสามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ของ สนพ. www.eppo.go.th
ติดตามข้อมูลราคาน้ำมันต่างประเทศรายเดือนได้ที่ www.eppo.go.th
http://www.eppo.go.th/index.php/th/energy-information/interretailprice