กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานอิทธิพลของพายุโซนร้อน "เซินติญ" ตั้งแต่วันที่ 17 – 21 กรกฎาคม 2561 ทำให้เกิดสถานการณ์ภัยใน 11 จังหวัด สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 8 จังหวัด ได้แก่ ตราด แพร่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ประจวบคีรีขันธ์ ตาก ระนอง และเพชรบุรี มีสถานการณ์อุทกภัยใน 3 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี พิจิตร นครสวรรค์ ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง พร้อมระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ภาคเหนือและภาคตะวันออกยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้คลื่นลมมีกำลังแรง ปภ.ได้ประสานจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็วเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลของพายุโซนร้อน "เซินติญ" ตั้งแต่วันที่ 17 – 21 กรกฎาคม 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มใน 11 จังหวัด ดังนี้ พิจิตร นครสวรรค์ ตราด แพร่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ประจวบคีรีขันธ์ ตาก ระนอง กาญจนบุรี และเพชรบุรี รวม 17 อำเภอ 23 ตำบล 67 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,909 ครัวเรือน 5,774 คน ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว 8 จังหวัด ได้แก่ ตราด แพร่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ประจวบคีรีขันธ์ ตาก ระนอง และเพชรบุรี ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 3 จังหวัด รวม 3 อำเภอ 4 ตำบล 15 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 161 ครัวเรือน 599 คน ดังนี้ กาญจนบุรี น้ำไหลหลากเข้าท่วมในอำเภอสังขละบุรี รวม 2 ตำบล 10 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลหนองลู และตำบลไล่โว่ ประชาชนได้รับผลกระทบ 100 ครัวเรือน 400 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 300 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว พิจิตร น้ำไหลหลากเข้าท่วมในตำบลทับคล้อ อำเภอทับคล้อ ประชาชนได้รับผลกระทบ 61 ครัวเรือน 199 คน ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง และระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง นครสวรรค์ น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ ตำบลตะคร้อ ล้นสปิลเวย์เข้าท่วมในพื้นที่อำเภอไพศาลี พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 80 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรในที่ลุ่มต่ำ ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง รวมถึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ อีกทั้งเร่งสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาว และเวียดนามตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุม ประเทศลาวตอนบน ส่งผลให้ภาคเหนือของประเทศไทยยังมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ขณะที่ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคุลมภาคใต้ ทะเลอันดามัน และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบางพื้นที่ รวมถึงทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นลมแรง ปภ.จึงได้ประสานจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยจากภาวะฝนตกหนัก ปริมาณฝนสะสม และคลื่นลมแรง โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด สำหรับทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน คลื่นลมมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 – 3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ประชาชนบริเวณชายฝั่งระมัดระวังอันตรายจากคลื่นซัดฝั่ง รวมถึงชาวประมงให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือเป็นพิเศษ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง อีกทั้งนักท่องเที่ยวควรงดประกอบกิจกรรมทางทะเลทุกประเภท ทั้งนี้หากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป