กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--มหาวิทยาลัยศรีปทุม
SPU Dynamic University ระดมสมองคณะผู้บริหารและคณาจารย์ จากทุกคณะและหน่วยงานสนับสนุน ร่วมกันจัดการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่มุ่งหวังผลลัพธ์ (Outcome Based Education) แบบผสมผสานศาสตร์การสอน สู่การผลิตบัณฑิตคุณภาพตอบโจทย์ Thailand 4.0
ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน ร่วมกับสำนักงานวิชาการ กลุ่มงานมาตรฐานและบริการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดโครงการสัมมนาเชิงปฎิบัติการการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่มุ่งผลลัพธ์(Outcome Based Education) แบบผสมผสานศาสตร์การสอน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ พร้อมร่วมซักถามและวิพากษ์จากผู้เข้าร่วมสัมมนา และมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัจฉราพร โชติพฤกษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรฐานการศึกษาพร้อมทีมงาน ร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และแนะนำวิธีการ "การออกแบบ Program Learning Outcome (PLO) ของหลักสูตร" ณ โรงแรมริเวอร์เพลส จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า เป้าหมายและยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย (ปี 2561-2565) คือ การมุ่งผลิตผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาที่เป็นความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาทักษะต่างๆ ในการทำงานที่จำเป็นให้กับผู้เรียน อาทิ ทักษะทางความคิด ความเข้าใจ มีความสามารถในการอยู่ร่วมกับสังคมอย่างมีความสุข และความรู้ ความสามารถที่จะพัฒนาประเทศให้คงอยู่และมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะแข่งขันกับนานาประเทศได้ ดังนั้น เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายและยุทธศาสตร์การปฏิรูปอุดมศึกษาไทย สถาบันอุดมศึกษาจึงต้องใช้หลักการจัดการศึกษาแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์ของผู้เรียน (Outcome Based Education)
การจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ (Outcome Based Education) ของผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อให้ได้บัณฑิตที่มีคุณลักษณะของรูปแบบในอนาคต โดยต้องมีการออกแบบและวางแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อการสร้างคุณสมบัติดังกล่าว การออกแบบหลักสูตรจึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ผู้จัดทำจะต้องตระหนักถึง เพื่อให้การผลิตบัณฑิตที่ทันสมัย สอดคล้องกับอาชีพที่ผู้ประกอบการต้องการในอนาคต โดยจะต้องมีแนวทางการจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทักษะในการทำงานที่จำเป็น เพื่อพร้อมที่จะทำงานในอนาคต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิรินธร สินจินดาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอนในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการพัฒนาอาจารย์ และการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ ตลอดจน สำนักงานวิชาการ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจด้านการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ร่วมกันจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่มุ่งผลลัพธ์ (Outcome Based Education) แบบผสมผสานศาสตร์การสอน ขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำและออกแบบหลักสูตร อาทิ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ หัวหน้าสาขาวิชา ตลอดจนอาจารย์ผู้สอน สามารถออกแบบและจัดทำหลักสูตร ตามแนวคิด หลักการการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ (Outcome Based Education) แบบผสมผสานศาสตร์การสอน และสามารถขยายผลไปสู่การออกแบบหลักสูตรให้มีคุณภาพ มีกลไกในการตรวจสอบและประเมินหลักสูตรได้มาตรฐานตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนดไว้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิรินธร กล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาที่มุ่งผลลัพธ์ (Outcome-based Education) จะเริ่มจากผู้สอนจะต้องตั้งผลลัพธ์ที่ผู้เรียนควรจะได้หรือควรจะเป็นหลังจากเสร็จสิ้นการเรียน ซึ่งจะต้องแจ้งให้ผู้เรียนทราบว่าเมื่อเรียนวิชานี้จบไปแล้ว จะสามารถทำอะไรได้บ้าง จากนั้นจึงออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อมุ่งไปสู่ผลลัพธ์นั้น ซึ่งการศึกษาที่มุ่งผลลัพธ์จึงคู่กันกับการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรม (Activity-based Learning)
ผู้ที่จะพัฒนาผู้เรียน ไม่ใช่ผู้สอน แต่คือตัวผู้เรียนเอง โดยผู้สอนทำหน้าที่เป็นโค้ช กระบวนการ (facilitator) ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนคิดได้ และเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้น ผู้เรียนจึงเป็นศูนย์กลางของการเรียน (student-centered) การศึกษาที่มุ่งผลลัพธ์จึงเป็นแนวระนาบ ที่อาจารย์หรือโค้ช จะเรียนรู้ร่วมกับนักศึกษา และเรียนรู้จากนักศึกษาได้ด้วย
การศึกษาที่มุ่งผลลัพธ์จะใช้วิธีการเรียนรู้โดยการใช้กิจกรรม และการลงมือปฏิบัติ (Activity-based Learning) ซึ่งได้แก่ การเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นจริง (Problem-based Learning) การเรียนรู้โดยกา
ทำโครงงาน (Project-based Learning) และการเรียนรู้โดยการบริการสังคม (Service Learning) ซึ่งก็คือการให้โครงงานที่ทำเป็นโครงงานที่ไปบริการสังคมหรือชุมชน ซึ่งจะทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการใช้ความรู้โดยรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
นอกจากนี้ต้องมีการให้ผู้เรียนได้สรุปบทเรียนการเรียนรู้ (reflection) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้เรียนได้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และต้องมีการประเมินผลหรือประเมินผลลัพธ์ เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการพัฒนาตนเอง และเพื่อให้อาจารย์ผู้สอนได้ทราบว่าวิธีการที่ใช้นั้นได้ผลหรือไม่ ถ้าไม่ได้ผล หรือได้ผลน้อย ก็ต้องปรับวิธีการให้ได้ผลมากขึ้นในครั้งต่อไป