กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--มาเธอร์ ครีเอชั่น
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พร้อมผู้บริหารไทย ร่วม MOU ระหว่างรัฐบาลไทย-เพียร์สันประเทศอังกฤษ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อขยายการพัฒนาบุคคลากรในอีอีซี หลังนายกรัฐมนตรีเชื่อมสัมพันธ์ไทยอังกฤษเมื่อเดือนมิถุนายน ในการจัดหลักสูตรผลิตบุคลากรด้านแรงงานของไทยเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10อุตสาหกรรมในอีอีซี
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ลกพอ.) เปิดเผยว่าภายหลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยือนสหราชราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเยี่ยมชมบริษัทเพียร์สัน (Pearson Education Limited) ในการศึกษารูปแบบการพัฒนาการผลิตกำลังคนเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมของประเทศอังกฤษ และเตรียมพร้อมที่จะนำมาปรับใช้ในประเทศไทย ในการยกระดับฝีมือแรงงานของไทยให้สูงขึ้น ซึ่งในระหว่างวันที่ 16-19 ก.ค.ที่ผ่านมา สกพอ.พร้อมกับคณะผู้แทนไทย และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อพบปะนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมกับการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ บริษัทเพียร์สัน (Pearson Education Limited) หรือ Framework for Human Resources Development Collaboration Between Person and EEC ซึ่งเป็นบริษัทธุรกิจด้านการศึกษาชั้นนำของโลก
สำหรับเป้าหมายของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และบริษัทเพียร์สัน ในครั้งนี้ จะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคคลากรในการรองรับการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยที่จะมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
โดยบริษัทเพียร์สันมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนที่จะนำแนวทางของระบบ BTEC เข้ามาปรับใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของภาคอุตสาหกรรมในอีอีซี และในเดือนสิงหาคมนี้ ทางเพียร์สันจะเริ่มเข้ามาสำรวจและศึกษาความเหมาะสมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะแรงงานที่จะเข้าสู่ระบบ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดย BTEC ถือเป็นมาตรฐานหลักสูตรอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของบริษัทชั้นนำทั่วโลก
"การลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกของความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพ เพื่อสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ร่วมกันของทั้งสองฝ่ายในการจัดหานักเรียนที่มีทักษะเฉพาะด้าน โดยเฉพาะด้านเทคนิค การใช้เทคโนโลยี มีขีดความสามารถการพัฒนาที่ตรงกับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ความร่วมมือในครั้งนี้ยังถือเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ที่มุ่งมั่นจะยกระดับภาคการศึกษาและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้มีการเติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยบริษัท เพียร์สัน จะนำหลักสูตร BTEC เข้ามาสู่โปรแกรมการเรียนการสอนสายอาชีพในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทยในระยะแรก ก่อนที่จะขยายหลักสูตรดังกล่าวไปสู่พื้นที่อื่นๆต่อไป" นายคณิศ กล่าว
ทั้งนี้บริษัทเพียร์สันถือเป็นบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างขีดความสามารถการแข่งขันให้กับสหภาพยุโรป จากการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเพื่อเป็นโมเดล (Model) ในการนำไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาบุคลากร โดยร่วมกัน 4 ส่วน ได้แก่ รัฐบาล เพียร์สัน ภาคอุตสาหกรรมและนักเรียนให้สอดรับกัน ซึ่งโมเดลดังกล่าว ประสบความสำเร็จในสหราชอาณาจักรและนำมาเป็นต้นแบบเพื่อพัฒนากำลังคนให้มีความสามารถเพิ่มขึ้นให้กับประเทศต่างๆ รวมทั้งอีอีซี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ ทาง สกพอ. ยังได้ร่วมสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลกับนักลงทุนประเทศอังกฤษ ภายใต้หัวข้อ "The Colours of Thailand 2018"ณ ตึกKPMG เมืองแมนเซสเตอร์ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา จัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ร่วมกับหน่วยงานชั้นนำของประเทศอังกฤษ อาทิ หอการค้า Greater Manchester สถาบันการเงินเพื่อการส่งออกของอังกฤษ (UK Export Finance : UKEF) สมาคมธุรกิจอังกฤษ-อาเซียน (UK-ASEAN business council เพื่อนำเสนอความคืบหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักที่รัฐบาลไทยได้มุ่งมั่นให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ได้เปิดให้เอกชนยื่นประมูลเพื่อพัฒนาโครงการซึ่งล่าสุดมีเอกชนทั้งไทยและต่างชาติให้ความสนใจซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) ถึง31 ราย ซึ่งถือเป็นโครงการที่จะเข้ามารองรับการขยายการลงทุนในอนาคต รวมทั้งเป็นแนวทางการพัฒนาและโอกาสการลงทุน สิทธิประโยชน์ทางการลงทุนที่นักลงทุนอังกฤษจะได้รับภายใต้การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี
อย่างไรก็ตามนอกจากความสนใจของนักลงทุนในอังกฤษได้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมากกว่าจำนวน 70 คน ทางสถาบันการเงินเพื่อการส่งออกของอังกฤษ หรือ UKEF ยังมีความพร้อมที่จะสนับสนุนด้านการเงินแก่นักลงทุนอังกฤษที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย กว่า 4.5 พันล้านปอนด์ ขณะเดียวกัน สกพอ.ยังได้พบปะกับ สถาบันการเงินขนาดใหญ่ของอังกฤษ อาทิ HSBC และ Citi Group เมื่อวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยได้ให้ข้อมูลความก้าวหน้าของโครงการ อีอีซี โดยเฉพาะกฎหมาย พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ.อีอีซี) ที่มีผลบังคับใช้ รวมถึงสิทธิประโยชน์ภายใต้ พรบ. อีอีซี ในรายละเอียดด้านต่างๆของการลงทุน ความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันทางการเงินดังกล่าว และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนนักลงทุนอังกฤษเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น