กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ดัชนีรายได้เกษตรกรเดือนมิถุนายน 61 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.27 ระบุ กรกฎาคม รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเดือนสิงหาคมนี้ ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น และดัชนีรายได้เกษตรกรยังอยู่ในเกณฑ์ดี
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมรายได้ของเกษตรกร วัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนมิถุนายน 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2560 ร้อยละ 4.27 โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเดือนมิถุนายน 2561ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2560 ร้อยละ 3.60 สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากปริมาณยางออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น สับปะรด ราคาลดลงเนื่องจากมีปริมาณผลผลิตออกกระจุกตัว และโรงงานแปรรูปปรับราคารับซื้อลดลง และ สุกร ราคาลดลงเนื่องจากความต้องการบริโภคชะลอตัวลง
สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ ประกอบกับราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอยู่ในเกณฑ์สูง มังคุด ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลต่อการติดดอกออกผลของผลไม้ในช่วงต้นปี ทุเรียน ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีความต้องการของตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และ ไข่ไก่ ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะการค้าชะลอตัวตามความต้องการใช้ที่ลดลงจากปกติ แต่มีมาตรการเพิ่มการส่งออกไปยังต่างประเทศ
ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนมิถุนายน 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2560 ร้อยละ 8.17 สินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ข้าวเปลือกเจ้า สับปะรด ปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม ส่วนสินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ทุเรียน ลิ้นจี่ และสุกร
หากมองถึงแนวโน้มดัชนีรายได้ ราคา และผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2561 พบว่า แนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกร เดือนกรกฎาคม2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2560 ร้อยละ 9.87 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.31 โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา สับปะรดปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และลิ้นจี่ ในขณะที่ดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.39 โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ลำไย มังคุด ลองกอง และไข่ไก่
ด้านสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตออกมากในช่วงเดือนสิงหาคม 2561 ได้แก่ ยางพารา ซึ่งคาดว่าผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากเกษตรกรเริ่มเปิดกรีดยาง ขณะที่ผู้ซื้อต้องการยางเพื่อส่งมอบ ส่งผลให้ดัชนีราคาปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คาดว่า ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน เนื่องจากข้าวโพดฤดูกาลใหม่ (ปี 2561/62) ทยอยออกสู่ตลาด และ สุกร คาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น เป็นผลจากสภาพอากาศที่เย็นลงในช่วงฤดูฝน ทำให้สุกรโตเร็ว ส่งผลให้ดัชนีราคามีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
ทั้งนี้ เดือนสิงหาคม 2561 คาดว่าดัชนีรายได้เกษตรกรอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนดัชนีราคา คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2560 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เงาะโรงเรียน สุกร และไข่ไก่