กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--กรมประมง
กรมประมงสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลานิลกุ้งขาวบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ให้รวมกลุ่มทำเกษตรแปลงใหญ่ด้านประมง โดยส่งเสริมให้เลี้ยงปลานิลร่วมกับกุ้งขาวแวนนาไม การเลี้ยงสัตว์น้ำลักษณะนี้เรียกว่าการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสานซึ่งจะช่วยในเรื่องของการลดต้นทุนในการผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรจากผลผลิตที่หลากหลาย
นายชำนาญ พงษ์ศรี รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า... กรมประมงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาแปลงใหญ่ด้านประมงเป็นระยะเวลา 5 ปี (2560-2564) มีเป้าหมายพัฒนาแปลงให้ได้ 300 แปลง โดยผลักดันให้เกษตรกรในแปลงใหญ่มีการรวมกลุ่มเพื่อร่วมกันวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตให้ได้ร้อยละ 20 และเพิ่มผลผลิตให้ได้ร้อยละ 20 พร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต ร้อยละ 100 เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและมีตลาดรองรับสินค้าที่แน่นอนและต่อเนื่อง โดยมีเจ้าหน้าที่กรมประมง ช่วยอำนวยความสะดวกเชื่อมโยงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มแปลงใหญ่มีความเข้มแข็งสามารถดำเนินการได้ประสบผลสำเร็จ เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสอดคล้องกับเป้าหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งหวังให้เกษตรกร และภาคการเกษตรมีการพัฒนาไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน
นายมานพ หนูสอน ประมงจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ในอดีตประเทศไทยประสบปัญหาโรคในกุ้งขาวหรือที่เรียกว่า "โรคกุ้งตายด่วน (EMS)" สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจำนวนมาก แนวความคิดการเลี้ยงปลานิลร่วมกับกุ้งขาวจึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นทางออกให้กับเกษตรกร เนื่องจากปลานิลและกุ้งขาวสามารถอยู่ร่วมกันได้แบบเอื้อประโยชน์ต่อกัน ปัจจุบันเกษตรกรหันมาเลี้ยงปลานิลร่วมกับกุ้งขาวมากขึ้นเพราะสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรตลอดทั้งปี อีกทั้งในช่วงที่ปลานิลประสบปัญหาราคาตกก็จะมีกุ้งขาวมาช่วงพยุงราคาไว้ ทำให้เกิดรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับการเลี้ยงปลานิลร่วมกับกุ้งขาวในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ กรมประมงดำเนินโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ด้านประมงโดยเน้นความร่วมมือของเกษตรกร สำหรับกลุ่มผู้เลี้ยงปลานิลร่วมกับกุ้งขาวแวนนาไมในพื้นที่อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการจัดเป็นอีกกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการระบบแปลงใหญ่ โดยได้เริ่มเข้าโครงการในปี 2559 และผ่านการรับรองจากคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ภายในกลุ่มมีสมาชิกจำนวน 75 ราย พื้นที่ 1,821.5 ไร่ มีเจ้าหน้าที่กรมประมงลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านวิชาการและติดตามความก้าวหน้าของฟาร์มเกษตรกรอย่างต่อเนื่องตลอดจนมีการจัดอบรมเกี่ยวกับความรู้ด้านวิชาการพร้อมกับแนะนำตลาดใหม่ๆ ให้เกษตรกร
ส่งผลทำให้ในปี 2560 สามารถสร้างผลผลิตเฉลี่ย 650 กก./ไร่/ปี ผลผลิตรวม 1,183,975 กก./ปี คิดเป็นมูลค่า 41,439,125 บาท/ปี ในด้านคุณภาพของฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทางสมาชิกได้เน้นในเรื่องของความสะอาดที่ถูกสุขอนามัยในทุกขั้นตอน ทำให้ทางกลุ่มได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี GAP จากกรมประมง จำนวน 63 ราย
นายสัมพันธ์ จันทาวี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลานิลกุ้งขาวบางเสาธง เล่าว่า หลังจากที่เข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่กับทางกรมประมงอย่างเป็นทางการในปี 2560 ได้มีการจัดการประชุมกับเกษตรกรในกลุ่มอย่างต่อเนื่อง มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมาของเกษตรกรในกลุ่ม โดยหันมาเลี้ยงปลานิลร่วมกับกุ้งขาว ซึ่งเห็นผลได้อย่างชัดเจนจากเดิมเกษตรกรเลี้ยงปลารอบละ 10 เดือน ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กรมประมงทั้งในเรื่องวิธีการเลี้ยง การคัดเลือกลูกพันธุ์ อาหาร ฯลฯ ส่งผลทำให้การเลี้ยงสัตว์น้ำเหลือเพียงรอบละ 4 เดือน จากที่เกษตรกรเคยมีรายได้ปีละ 1 ครั้ง ตอนนี้มีรายได้มากขึ้นเป็นปีละ 3 ครั้ง อีกทั้งยังมีผลผลิตที่หลากหลายมากขึ้นด้วย สำหรับเทคนิคการเลี้ยงปลานิลร่วมกับกุ้งขาวแวนนาไมทางกลุ่มจะปล่อยลูกพันธุ์ปลานิลแปลงเพศลงบ่อเลี้ยงก่อนกุ้งขาวเป็นระยะเวลา 1 เดือนในอัตราการปล่อยที่ไม่ให้หนาแน่นจนเกินไป เช่น การปล่อยลูกพันธุ์ปลานิล 200,000-300,000 ตัว ต่อบ่อเลี้ยงขนาด 25-30 ไร่ จากนั้นจึงปล่อยลูกพันธุ์กุ้งขาวแวนนาไมเสริมลงไปในบ่อ เมื่อเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมเป็นระยะเวลานาน 1-2 เดือน ก็สามารถเริ่มรวบรวมผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมได้โดยการใช้ลอบดักเพื่อจำหน่ายแก่พ่อค้าแม่ค้า หรือแพกุ้งในพื้นที่อำเภอบางเสาธง จะเห็นได้ว่าระหว่างที่รอปลานิลเจริญเติบโตจนกว่าจะขายได้นั้น เกษตรกรยังมีรายได้จากการขายกุ้งขาวแวนนาไมอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีเทคนิคที่สำคัญอีกอย่างคือการให้อาหารสัตว์น้ำ 2 ชนิดในบ่อเลี้ยงเดียวกันซึ่งเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่บางเสาธงส่วนมากจะใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปในการเลี้ยงปลานิล แต่กุ้งขาวแวนนาไมไม่ต้องใช้อาหารกุ้งในการเลี้ยง เนื่องจากกุ้งสามารถกินเศษอาหารของปลานิล และอาหารธรรมชาติที่อยู่รอบๆบ่อเลี้ยงได้ ทำให้ลดการสะสมของเสียในบ่อ ระบบนิเวศในบ่อเลี้ยงจึงมีความสมดุลต่อสัตว์น้ำ จะเห็นได้ว่าสัตว์น้ำ 2 ชนิดสามารถอยู่ร่วมกันและเอื้อประโยชน์ต่อกันได้ดี ด้านวิธีการให้อาหารสัตว์น้ำทางกลุ่มจะไม่ใช้สวิงแขวนอาหารไว้เป็นจุดตามบ่อ เพราะจะทำให้ปลากินอาหารได้ไม่ทั่วถึง ทางกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่บางเสาธงได้ใช้วิธีการพายเรือออกไปเทอาหารให้ทั่วบ่อ เพื่อให้ปลานิลได้กินอาหารอย่างทั่วถึง ทำให้ปลานิลที่เลี้ยงมีขนาดเท่ากันไม่แตกขนาดตรงกับความต้องการของตลาด อีกทั้งรสชาติหวาน เนื้อเยอะและแน่น ที่สำคัญไม่มีกลิ่นโคลน ถือเป็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์จากกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่บางเสาธง
โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ด้านประมงของอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการพิสูจน์ได้ว่าการเลี้ยงปลานิลร่วมกับกุ้งขาวแวนนาไมทำให้ผลผลิตสัตว์น้ำได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาดทำให้เกษตรกรก็สามารถต่อรองราคาได้ อีกทั้งผลผลิตที่หลากหลายทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ตามแนวคิด"ยั่งยืนเพราะรายได้ที่มั่นคง"