กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
วันนี้ (วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2561) เวลา 13.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวกรมศุลกากร ชั้น 2 อาคาร 1 กรมศุลกากร นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายดำเนินการงานด้านประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ ตลอดจนนโยบายและโครงการต่างๆ โดยมอบหมายให้คณะโฆษกกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ และได้กำหนดให้มีการแถลงข่าวประจำทุกสัปดาห์ที่สามของเดือน สำหรับประเด็นที่ประชาชนสนใจในขณะนี้ ได้แก่ ความคืบหน้าสถานการณ์และแนวทางการดำเนินการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำเข้า ส่งออก เศษอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก และเศษโลหะ รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนกรณีมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อกรมศุลกากรในขายสินค้าผ่านทางโซเซียลมีเดีย และประชาสัมพันธ์ช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกรมศุลกากร ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1. สถานการณ์การนำเข้า ส่งออก เศษอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติก
นายชัยยุทธ คำคุณ ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร และนายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ให้ข้อมูลจากการประชุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันระหว่างกรมศุลกากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยนายชัยยุทธฯ ได้กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การนำเข้า เศษอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติก
กรมศุลกากรได้ทำกาตรวจสอบและตรวจปล่อย พร้อมจัดทำ List A และList F ดังนี้
- สถานการณ์นำเข้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติก เศษของเสียประเภทอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผงวงจร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าใช้แล้ว เป็นต้น มีหลายชนิดและประเภท จึงทำให้ไม่มีพิกัดศุลกากรเฉพาะสำหรับของประเภทดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ของที่จัดเป็นเศษอิเล็กทรอนิกส์สามารถจัดอยู่ในกลุ่มพิกัดศุลกากรตอนที่ 84 (เครื่องจักร เครื่องกล รวมถึงคอมพิวเตอร์) และ 85 (เครื่องใช้ไฟฟ้า) โดยมีการกำหนดรหัสสถิติเฉพาะเป็น 800 (ของใช้แล้ว) และ 899 (ของตามอนุสัญญาบาเซล) เพื่อควบคุมการนำเข้าตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตผ่านระบบ National Single Window (NSW) ระหว่างกรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ข้อมูลสถิติการนำเข้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มพิกัดศุลกากรตอนที่ 84 (เครื่องจักร เครื่องกล รวมถึงคอมพิวเตอร์) และ 85 (เครื่องใช้ไฟฟ้า) โดยมีการกำหนดรหัสสถิติเฉพาะเป็น 800 (ของใช้แล้ว) และ 899 (ของตามอนุสัญญาบาเซล) พบว่า ปริมาณการนำเข้าสินค้าดังกล่าว ในปี 2560 มีปริมาณรวม 52,131 ตัน และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 พฤษภาคม 2561 มีปริมาณ 8,634 ตัน มูลค่านำเข้าในปี 2560 และ 2561 (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 พฤษภาคม)
คือ 2,050 และ 316 ล้านบาทตามลำดับ
ข้อมูลสถิติการนำเข้าเศษพลาสติก ในปี 2560 มีปริมาณการนำเข้า (166,802.15 ตัน) และในปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 พฤษภาคม 2561 มีปริมาณนำเข้า 313,895.38 ตัน โดยมีสินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งอยู่ในอารักขาศุลกากร จำนวน 85 ตู้ และสินค้าเศษพลาสติก จำนวน 2,100 ตู้
- การดำเนินการของกรมศุลกากร
มีการดำเนินการผลักดันตู้สินค้า โดยใช้มาตรการของตกค้างและแจ้งตัวแทนเรือนำกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และมาตรการ RE-EXPORT ข้อมูล ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2561 มีการผลักดันตู้สินค้าไปแล้ว 54 ตู้
- ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
(1) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561 กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตราย จำนวน 5 บริษัท
(2) ประกาศท่าเรือกรุงเทพ การท่าเรือแห่งประเทศไทย เรื่องระงับการขนถ่ายตู้สินค้าขาเข้าประเภทสินค้าเศษพลาสติก (Plastic Scrap) เศษอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Waste) และของเสียอันตราย (Hazardous Waste) ผ่านท่าเรือกรุงเทพ ขอระงับการขนถ่ายตู้สินค้าขาเข้าประเภท เศษพลาสติก (Plastic Scrap) เศษอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Waste) และของเสียอันตราย (Hazardous Waste) ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป
2. แจ้งเตือนกรณีมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อกรมศุลกากรขายสินค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย
นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง รองโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า ตามที่ในโลกโซเชียลมีเดีย มีการโฆษณาขายสินค้าแบรนด์เนม และแอบอ้างด้วยการนำภาพของผู้บริหารกรมศุลกากร หรือภาพเหตุการณ์การจับกุม นำมาใช้เพื่อการโฆษณาสินค้าเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือนั้น ซึ่งกรณีดังกล่าวกรมศุลกากรได้แจ้งเตือนไปหลายครั้ง และได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลการแจ้งเตือนของกรมศุลกากรเป็นอย่างดี แต่เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ยังพบมีการแอบอ้างชื่อกรมศุลกากรขายสินค้าผ่านทางโซเชียลมีเดียอีก กรมศุลกากรจึงขอแจ้งเตือนประชาชนอีกครั้งว่า ในการดำเนินการเกี่ยวกับของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดินแล้วจะสามารถจำหน่ายได้โดยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ดังนี้ (1) ขายทอดตลาด (2) ขายคืนเจ้าของ (3) ขายปันส่วน (4) ส่งมอบส่วนราชการ (5) ทำลาย (6) วิธีการอื่นๆ ตามอนุมัติอธิบดี ทั้งนี้ให้ดำเนินไปตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจำหน่ายของกลาง พ.ศ. 2560 โดยกรมศุลกากรจะประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการและจะดำเนินการโดยกรมศุลกากรหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากกรมศุลกากรเท่านั้น พร้อมทั้งดำเนินการชำระภาษีโดยมีเอกสารหลักฐานการชำระโดยกรมศุลกากรที่ชัดเจนตามกฎหมาย สำหรับกรณีดังกล่าว เป็นการแอบอ้างหลอกลวงโดยมิจฉาชีพทำให้เกิดความเสียต่อประชาชนและกรมศุลกากร ซึ่งในขณะนี้กรมศุลกากรได้ดำเนินการรวบรวมเพจต่างๆ ที่ปรากฏบนโซเชียลดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดต่อไป
3. ช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกรมศุลกากร
กรมศุลกากรมีช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนอย่างเป็นทางการและสามารถเชื่อถือได้ โดยมีช่องทาง ดังนี้
1. website : https://www.Customs.go.th
2. Facebook : https://www.facebook.com/customsdepartment.thai/
3. Youtube : https://www.youtube.com/theprcustoms
4. Line Official Account :Thaicustoms
สำหรับในวันนี้ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับระบบการยกเว้นอากรสำหรับของส่วนตัวและของใช้ในบ้านเรือน (Pre-Check Personal/Household effects) ซึ่งท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางช่องทางการสื่อสารของกรมศุลกากรดังกล่าวข้างต้น หากมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับการดำเนินการใดๆ ทางกรมศุลกากร สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ Customs Call Center 1164 หรือทาง e-mail : 1164@customs.go.th