กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์
บล.เออีซี (AECS) มองหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวต่อ หลังกลุ่มแบงก์ประกาศงบไตรมาส 2/2561 ดีเกินคาด แต่ยังคงจับตาปัจจัยต่างประเทศ อาทิ สงครามการค้า ค่าเงิน และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดต่อเนื่อง ให้กรอบดัชนี 1,645-1,710 จุด แนะลงทุนหุ้นผลการดำเนินงานไตรมาส 2/61 เด่น ชู BJC-HMPRO-MC-BDMS-BCH-RJH-AOT-MINT-SPA
บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AECS เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์นี้ (24-26 ก.ค.) คาดมีโอกาสปรับขึ้นต่อได้หลังได้รับ Sentiment เชิงบวกจากผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาดีเกินคาด อีกทั้งราคาน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มปรับขึ้นหลังซาอุฯ จะปรับลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. แต่อย่างไรก็ดีการปรับขึ้นแรงของดัชนียังมีความเป็นไปได้น้อย หลังนักลงทุนยังจับตาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังล่าสุดประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวงเงินสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์
ส่วนปัจจัยกดดันต่างประเทศให้ตลาดมีความผันผวนได้ แม้จะมีแรงหนุนจากผลประกอบการของ บมจ. สหรัฐฯ ช่วงไตรมาส 2/2561 ที่ออกมาแข็งแกร่ง แต่คาดจะถูกกดดันด้วยแนวโน้มสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-คู่ค้าหลักที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้
รวมทั้งความไม่แน่นอนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ได้รับผลจากการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ออกมาวิจารณ์การทำงานของเฟดและมองว่าแผนขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้นเร่งรีบเกินไป ซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตของสหรัฐฯ อีกทั้งยังกล่าวโจมตีจีน EU และประเทศคู่ค้าอื่นๆ ว่าจงใจกดอัตราดอกเบี้ยไว้ต่ำเพื่อสร้างความได้เปรียบด้านการค้ากับสหรัฐฯ ทำให้ Dollar Index กลับมาอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์
ขณะที่ในช่วงสั้นแนะนำให้นักลงทุนติดตามการพูดคุยระหว่างประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (Europe Commission) และนายโดนัลด์ ทรัมป์ในวันที่ 25 ก.ค. นี้ ซึ่งคาดจะมีการพูดคุยหลักถึงมาตรการ Safe Guard ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของสหรัฐฯ โดยแม้ล่าสุดประเด็นดังกล่าวจะผ่อนคลายลงหลังนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และสมาคมยืนยันที่จะยอมลดภาษีรถยนต์นำเข้าจากสหรัฐฯ ลงเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้ากับสหรัฐฯ แต่หากการพูดคุยดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนหรือมีบรรยากาศที่แย่ลง คาดตลาดจะกลับมากังวลต่อประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งจากรายงานของ EU ประเมินผลกระทบดังกล่าวอาจนำมาซึ่งการจัดเก็บภาษีในสินค้ามูลค่ากว่า 2.9 แสนล้านดอลลาร์ และกระทบต่อภาค Real Sector ทั้งในสหรัฐฯ และEU
ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนจึงแนะนำ "Selective Buy" ในหุ้นDomestic ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง ดังนี้1. หุ้นธนาคารพาณิชย์ที่คาดกำไรโตหรือราคาหุ้นยัง Laggardโดยมี PBV ต่ำ เช่น KBANK, BBL, SCB 2.หุ้นกลุ่มบริการ ค้าปลีก, รพ., ท่องเที่ยว ที่คาดกำไรยังโตสดใสในช่วง 2Q/61 เช่น BJC, HMPRO, MC, BDMS, BCH, RJH, AOT, MINT, SPA และ 3. หุ้นที่จ่าย Div. Yield สูงเกินปีละ 5% เช่น KKP, TTW, MC, SMPC
ส่วนในทางเทคนิคแนะนำ นักเก็งกำไร กรณีมีหุ้น ถือต่อ กรณีไม่มีหุ้น ซื้อเมื่อดัชนีอ่อนตัวบริเวณแนวรับ 1,645 จุด และแบ่งขายทำกำไรบริเวณแนวต้าน 1,680/1,695 จุด ทั้งนี้ตั้ง Stop Loss เมื่อดัชนีวกกลับปิดต่ำกว่าแนวรับ สำหรับนักลงทุนระยะกลาง ซื้อเพื่อเล่นรอบ โดยทยอยเมื่อดัชนีอ่อนตัว มองกรอบแนวรับ 1,640-1,650 จุด เพื่อคาดหวังแนวต้าน 1,695-1,710 จุด ทั้งนี้ตั้ง Stop Loss หากหลุด 1,630 จุด กลุ่มที่คาด Outperform สัปดาห์นี้ เลือกกลุ่ม ธนาคาร (BANK) โดยมีTop Pick ได้แก่ BBL คาดหวังรีบาวด์แนวต้าน 203 บาท แนวรับ 196 บาท , KBANK คาดหวังรีบาวด์แนวต้าน 220 บาท แนวรับ 205 บาท