กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--พีอาร์ดีดี
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน เปิดเผยว่า ในปีนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์ ยังคงสามารถรักษาอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศ (National Investment Management Quality Rating) ที่ 'Excellent(tha)' แนวโน้มอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนมีเสถียรภาพ จากการประกาศของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อเร็ว ๆนี้ สะท้อนถึงการจัดการด้านการปฏิบัติการและการลงทุนที่ฟิทช์มองว่าโดดเด่นกว่ามาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน
ทั้งนี้ การคงอันดับของบลจ.ไทยพาณิชย์ พิจารณาจากปัจจัย 5 ด้าน ประกอบด้วย กระบวนการการลงทุน บุคลากรในการจัดการลงทุน การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการลงทุน และบริษัทและการบริการ โดยบริษัทฯ มีกระบวนการการลงทุนที่ดีพร้อม มีบุคลากรในการจัดการการลงทุนที่มีประสบการณ์ และมีกระบวนการการควบคุมความเสี่ยงหลายระดับ นอกจากนี้การจัดอันดับดังกล่าวยังสะท้อนถึงผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุนที่ดี เครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง และการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสต่อนักลงทุนในกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์ ยังเป็นรักษาความเป็นผู้นำอันดับ 1 ในธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคล โดยมีการเพิ่มจำนวนกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ หรือใช้กลยุทธ์การลงทุนหลายแบบ (multi-strategy asset-allocation funds) อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความหลากหลายของการลงทุน ทั้งในด้านกลยุทธ์การลงทุนและสินทรัพย์ที่ลงทุนเมื่อเทียบกับมาตรฐานของบริษัทจัดการกองทุนอื่น ๆ ในประเทศ
"ฟิทช์ยังมองว่า บลจ.ไทยพาณิชย์มีกระบวนการการลงทุนที่ดีเยี่ยมและมีความชัดเจนในการหาผลตอบแทนเมื่อเทียบกับวัตถุประสงค์การลงทุน โดยบริษัทมีการติดตามและประเมินหลักทรัพย์ที่ลงทุนเป็นลายลักษณ์อักษร การวิเคราะห์การลงทุนในเชิงลึก และการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างมีหลักการ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีการใช้เครื่องมือเชิงปริมาณในกระบวนการการลงทุน ขณะที่บุคลากรในการจัดการการลงทุนมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมในเชิงกว้างและเชิงลึกโดยมีการแบ่งแยกตามสายงานอย่างชัดเจน ไม่ได้พึ่งพาบุคลากรคนใดคนหนึ่งมากเกินไป และมีผู้จัดการการลงทุนที่มีประสบการณ์ทำงานผสมผสานกันตามความเหมาะสม จำนวนและประสบการณ์ของบุคลากรฝ่ายการลงทุน มีความสอดคล้องกับสินทรัพย์ที่บริหารจัดการ โดยมีบุคลากรสำหรับการวิเคราะห์ที่พอเพียง นอกจากนี้ยังมีการแยกความรับผิดชอบการบริหารจัดการการลงทุนอย่างชัดเจน และมีแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุนที่หลากหลาย" นายณรงค์ศักดิ์กล่าว
อีกทั้งกระบวนการการควบคุมความเสี่ยงมีหลายระดับ และมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่เชื่อมต่อกัน พนักงานบริหารความเสี่ยงที่มีประสบการณ์สูง และกระบวนการการควบคุมความเสี่ยงที่ครอบคลุม รวมถึงการทำการทดสอบความเสี่ยงภายใต้ภาวะวิกฤต การวิเคราะห์ความเสี่ยงทางเครดิตของคู่สัญญา และการทำรายงานความเสี่ยงจากการปฏิบัติการการลงทุนและความเสี่ยงการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ โดยการบริหารความเสี่ยงการลงทุนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการลงทุน และมีการวัดความเสี่ยงการลงทุนตามปัจจัยความเสี่ยงจากการลงทุนต่าง ๆ ทั้งนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ยังเป็นผู้จัดหาบุคลากรและทรัพยากรในการบริหารความเสี่ยงที่มีคุณภาพสูงให้กับทางบลจ.ไทยพาณิชย์อีกด้วย
สำหรับผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์นั้น ฟิทช์มองว่าอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับบริษัทจัดการกองทุนอื่น ๆ ในประเทศไทย ซึ่งวัดจากผลการดำเนินงานของกองทุนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงเป็นเกณฑ์ โดยมีการใช้ machine learning สำหรับกองทุนบางกองทุน ในส่วนของกองทุนตราสารหนี้ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ มีผลการดำเนินงานของกองทุนที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับตลาดในหลาย ๆ ประเภทของกองทุนตราสารหนี้ ขณะที่กองทุนหุ้นมีผลการดำเนินงานของกองทุนที่สูงกว่าคู่แข่งในกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดเล็กและขนาดกลางเมื่อเทียบกับความเสี่ยง แต่มีผลการดำเนินงานของกองทุนที่ด้อยกว่าบริษัทอื่น ๆ ในกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่บางประเภท
ฟิทช์ ยังมองว่าบลจ.ไทยพาณิชย์ มีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจบริหารจัดการกองทุน และมีผลิตภัณฑ์กองทุนที่มีความหลากหลาย โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) มูลค่ารวมอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 บริษัทมีความแข็งแกร่งในธุรกิจกองทุนตลาดเงินและตราสารหนี้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่า 70% ของ AUM ทั้งหมด บริษัทฯ มีกองทุนรวมที่มีความหลากหลายในด้านนโยบายการลงทุน และมีความหลากหลายในกองทุนประเภทจัดสรรเงินลงทุนไปลงในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ และเป็นผู้นำอย่างชัดเจนในธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 43% ของกองทุนส่วนบุคคลทั้งหมดในอุตสาหกรรม ณ สิ้นเดือนเมษายน 2561แสดงถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล โดยเฉพาะในแวดวงนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ (high net worth) การนำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุนมีความเป็นระบบสูง โดยมักจะมีมาตรฐานเหนือกว่ากฎเกณฑ์และมาตรฐานของอุตสาหกรรม เห็นได้จากรายงานที่บริษัทได้ส่งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ