กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--หอการค้าไทย
พิธีลงนามความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมระหว่าง หอการค้าไทย กับ บริษัทเอกชน (24 บริษัท) สถาบันการเงินภาครัฐและเอกชน (5 สถาบัน) และสถาบันการศึกษา (2 สถาบัน) ในการสนับสนุน Thailand Smart Center เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการที่เป็นเครือข่ายหอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า SMEs ในประเทศไทยปัจจุบันมีมากกว่า 3,000,000 ราย คิดเป็น 99.7 % ของทั้งประเทศ มีการจ้างงานมากกว่า 11.7 ล้านคน คิดเป็น 80.3 % ของทั้งประเทศ สามารถสร้างมูลค่า GDP ได้ 4.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.1 % ของทั้งประเทศ ผู้ประกอบการ SMEs ถือเป็นส่วนสำคัญของประเทศไทย และในสภาพแวดล้อม สถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับบทบาทของเทคโนโลยีในโลกยุคดิจิทัล ที่ทวีความสำคัญ
แม้บริษัทขนาดใหญ่ยังมีความจำเป็นต้องปรับเข้าสู่กระบวนการ Digital Transformation เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs จำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมในการปรับตัว ให้เข้ากับโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนเป็นการค้าแบบไร้พรมแดน โดยการค้าขายบน Digital Platform จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในขณะที่การเกษตรจะเป็นเกษตรสมัยใหม่ ที่เสริมด้วยเทคโนโลยีและเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรม ส่วนภาคบริการจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ
นายกลินท์ กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม และพัฒนา SMEs โดยมีการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริม SMEs ผ่านศูนย์ Thailand Smart Center (TSC) ซึ่งจะมุ่งเน้นการให้บริการเชิงรุก เข้าถึงง่าย และจับต้องได้จริง เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการ 4.0 ให้สมาชิกสามารถนำข้อมูลนวัตกรรม และมาตรฐาน ไปต่อยอดในการดำเนินธุรกิจ ส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดความรู้และประสบการณ์เพื่อยกระดับผู้ประกอบการทุกระดับ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลการดำเนินธุรกิจ และแนวทางการน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
"เรามุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีการทำงานร่วมกัน มีการสร้างความเชื่อมโยงอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ โดยขับเคลื่อนผ่านกลไกประชารัฐ ซึ่งต้องขอขอบคุณหน่วยงาน ทั้ง 31 องค์กร
ที่อาสามาร่วมเป็นกำลังสำคัญในเครือข่ายพันธมิตร ร่วมสนับสนุนและผลักดันสานต่อนโยบายส่งเสริมและพัฒนา SMEs ไทย ให้สามารถยืนหยัดได้ อย่างยั่งยืน ในสภาวะธุรกิจปัจจุบันต่อไป"นายกลินท์ กล่าว
นายพลิษศร์ ภิรมย์ภักดี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และ ประธานคณะกรรมการ Thailand Smart Center (TSC) กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกหอการค้าไทย โดยมีการ Rebranding ศูนย์ Thailand SME Center มาเป็น ศูนย์ Thailand Smart Center หรือ TSC เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา โดยเน้นการบริการเชิงรุก ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์สภาวะธุรกิจในปัจจุบัน
โดยแผนการดำเนินงานของ TSC จะมีการสร้าง Platform ให้เป็นศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจรให้กับ SMEs โดยเฉพาะสมาชิกของหอการค้าไทย และเครือข่ายหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เน้นการสร้างสรรค์กิจกรรมและบริการ ผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ ตลอด Value Chain โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบการ 4 กลุ่มธุรกิจ ตามนโยบายของหอการค้าไทย ได้แก่ 1. กลุ่มการค้าและการลงทุน 2. กลุ่มท่องเที่ยวและบริการ 3. กลุ่มเกษตร และ 4. กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
สำหรับการลงนามความร่วมมือฯ กับทุกบริษัทเอกชนที่เป็นพันธมิตรทั้งหมดในครั้งนี้ เพื่อที่จะคัดสรร และเชื่อมโยงบริการ ตลอดจนจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของทุกหน่วยงาน ที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการ SMEs ในเครือข่ายของหอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ โดยการสนับสนุนกิจกรรมภายใต้แผนงาน ของ TSC ที่จะเกิดขึ้นโดยความร่วมมือจากบริษัทเอกชน (24 บริษัท) สถาบันการเงินภาครัฐและเอกชน (5 สถาบัน) และสถาบันการศึกษา (2 สถาบัน) ตลอดระยะเวลา 3 ปีของ คณะกรรมการฯ จะมีการประเมินผลเพื่อปรับปรุงแผนงานให้มีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา
ในส่วนของแผนการดำเนินงานโครงการ และความร่วมมือจากบริษัทเอกชนต่าง ๆ ได้แก่
1. TSC Big Brother มีแนวคิดบริษัทพี่ช่วยบริษัทน้อง โดยผู้ประกอบการบริษัทน้อง จะได้รับการ Coaching เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยี และการพัฒนา
2. TSC Express : ได้เงินทุน ได้พัฒนา ได้ตลาด เป็นโครงการที่เกิดขึ้นมาจากปัญหาหลัก 3 ด้าน ของผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศไทย ได้แก่
1) การเข้าถึงแหล่งเงินทุน
2) ขาดความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาสินค้าและบริการที่เหมาะสม
และ 3) การเข้าถึงช่องทางการตลาด
3. TSC Easy ช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเริ่มต้นธุรกิจ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสะดวกรวดเร็ว
4. TSC Onsite Visit การจัดกิจกรรมเดินทางศึกษาดูงาน ณ สถานประกอบการจริง ของบริษัทเอกชนที่เป็นต้นแบบที่ดีในการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งมีการจัดเป็นประจำทุกเดือน
และ 5. TSC Training เพื่อพัฒนาและส่งเสริมองค์ความรู้ ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ตลอดจนองค์ความรู้ที่แยกเป็นประเภทธุรกิจ รายสาขา โดยเน้นการปฏิบัติจริง ผ่านการสัมมนา อบรม Workshop จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทพันธมิตร
"ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงบางส่วนของโครงการและกิจกรรมที่คณะกรรมการ Thailand Smart Center ได้คิดริเริ่มขึ้นมา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ในเครือข่ายหอการค้าไทย ซึ่งจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากไม่ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัทเอกชนทั้ง 31 องค์กร ในที่นี้ ทั้งการสนับสนุนเป็นตัวเงินและการ สนับสนุนเป็นวิทยากรองค์ความรู้ " นายพลิษศร์ กล่าว
รายชื่อองค์กรร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs
บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เครือเบทาโกร
บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด บริษัท โรงเส้นหมี่ชอเฮง จำกัด
บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เพลย์ กรุ๊ป มาร์เก็ตติ้ง จำกัด
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด
บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)
บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท จำกัด
บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท ชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ รีสอร์ท จำกัด
บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด
บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด