กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--กู๊ดเน็ตเวิร์ค
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จัดงาน"ชีวิตใหม่ ใต้ร่มพระบารมี" เพื่อเทิดพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9พร้อมเปิดนิทรรศการ "คู่พระบารมี" ในหอศิลปาชีพ"ระหว่างวันที่ 26 – 29กรกฎาคมนี้ ที่ SACICT CRAFT CENTER อ.บางไทร จ.อยุธยาฯ
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวถึงที่มาของการจัดงาน"ชีวิตใหม่ ใต้ร่มพระบารมี" ว่าการจัดงานในครั้งนี้เป็นความตั้งใจขององค์กรที่ต้องการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ผ่านการจัดกิจกรรมที่นำเสนอพระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นั้นได้โดยเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และได้ทรงสานต่อสิ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงริเริ่มไว้
"เรามองว่าพระราชกรณียกิจที่ทั้งสองพระองค์ทรงทำเพื่อประชาชนนั้นมีมากมาย และสิ่งหนึ่งที่เห็นเป็นประจักษ์ชัดเจน และแสดงถึงพระกรุณาของพระองค์ท่าน คือ ทรงไม่เลือกชนเผ่า หรือชาติพันธุ์ใดๆ ด้วยทรงมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่านั้นมีอยู่ในเมืองไทยมากมาย จากเดิมในอดีตจะทำไร่เลื่อนลอย และปลูกฝิ่น จนเกิดการบุกรุกทำลายป่า แต่ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ได้หมดไป ด้วยบารมีและพระกรุณาของพระองค์ท่าน ซึ่งคนเหล่านี้มีวัฒนธรรมที่ยังสืบสานต่อกันมา ไม่ว่าจะเป็นงานฝีมือ เย็บปักถักร้อย ถักทอ หรือแม้แต่วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ถือเป็นวัฒนธรรมหนึ่งในประเทศไทย SACICT เองก็มองว่าเราน่าจะมีบทบาทในการนำสิ่งเหล่านี้มาสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งขณะนี้งานของชนเผ่าต่างๆ ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในต่างประเทศซึ่งการจัดงาน "ชีวิตใหม่ใต้ร่มพระบารมี"นั้นก็สื่อให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการนำเสนอเรื่องราวของแต่ละชนเผ่าที่ได้รับชีวิตใหม่ มีความร่มเย็นเป็นสุข มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยพระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ นับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการนำเสนอเรื่องราวของชนเผ่าต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ราบสูง อาทิ กะเหรี่ยง ม้ง เย้า ลีซอ หรือกลุ่มที่ราบ อาทิ ไทยลื้อ ไทยทรงดำ ไทยยวน หรือกลุ่มมอญ ที่ยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมของตัวเองไว้กลุ่มที่อยู่ตามเกาะต่างๆ เช่น กลุ่มมอแกน และกลุ่มอูรักลาโว้ย รวมไปถึงกลุ่มที่อยู่ตามป่า เช่น กลุ่มซาไก กลุ่มผีตองเหลือง ซึ่งเขาก็มีพัฒนาการ ประเพณี ความเชื่อที่ถ่ายทอดออกมาในงานศิลปหัตถกรรมเช่นกันซึ่งหากเราละเลยไปคนรุ่นใหม่ก็จะไม่รู้ แล้วมันจะหายไปตามกาลเวลา เพราะฉะนั้นการสร้างการรับรู้ในสิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้คนไทยได้เห็นความหลากหลายของวัฒนธรรม และมีมุมมองที่กว้างขึ้น เมื่อมีมุมมองที่กว้างขึ้น ก็จะมองเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ ซึ่งมันมีเสน่ห์ในตัวของมันเอง แล้วจากเสน่ห์ก็จะสร้างเป็นเอกลักษณ์ อาจจะต่อยอดในเรื่องของธุรกิจ ในเรื่องของอาชีพ งานออกแบบได้ค่ะ"
สำหรับคนรักงานหัตถศิลป์นั้น งาน"ชีวิตใหม่ ใต้ร่มพระบารมี" จะรวบรวมเอางานศิลปะของกลุ่มชนเผ่าและกลุ่มชาติพันธุ์ มากกว่า 20 ชนเผ่ามาจัดแสดงและจัดจำหน่ายมีทั้งงานดีไซน์ดั้งเดิม ที่เจือกลิ่นไอของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และงานหัตถกรรมที่ถูกพัฒนาโดยนักออกแบบรุ่นใหม่ ที่มีการดัดแปลงให้ร่วมสมัย สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนเมือง สามารถใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น มีทั้งเสน่ห์ของความเป็นชนเผ่าและนวัตกรรม ความร่วมสมัยผสมผสานกัน
ในส่วนของงานนิทรรศการ จะแบ่งเป็นนิทรรศการนำเสนอพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับราษฎร นิทรรศการเกี่ยวกับงานศิลปหัตถกรรมของชนเผ่าต่างๆ และนิทรรศการแสดงผลงานที่เป็นนวัตกรรมและมีความร่วมสมัย
ส่วนที่น่าสนใจอีกส่วนหนึ่ง คือกิจกรรม ที่มีตั้งแต่การสาธิตการทำงานของชนเผ่า การปักผ้าม้ง การทำ workshop ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้ทดลองทำงานศิลปหัตกรรมต่างๆและการแสดง การละเล่นในโอกาสต่างๆ ของแต่ละชนเผ่า
และที่พลาดไม่ได้คือ การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีหลากหลาย ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นงานดั้งเดิม งานที่ดัดแปลงให้มีความร่วมสมัย และการแปรรูปเป็นของใช้ต่างๆ
งาน "ชีวิตใหม่ ใต้ร่มพระบารมี" กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 29กรกฎาคม 2561 เวลา 10.00 – 19.00 น. และในส่วนนิทรรศการจะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2561 ระหว่างเวลา 8.00 – 17.00 น. ณ SACICT CRAFT CENTER ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นอกจากนิทรรศการ ชีวิตใหม่ใต้ร่มพระบารมีแล้ว ผู้มาเยี่ยมชมยังสามารถเข้าชมนิทรรศการ "คู่พระบารมี" ภายใน "หอศิลปาชีพ" ได้อีกด้วย ซึ่งนิทรรศการของหอศิลปาชีพนั้น ในแต่ละปีจะมีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนกันไปโดยหอนี้จะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและบทบาทของการกำเนิด และพัฒนาการของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งงานที่ต่อเนื่องซึ่งปีนี้เป็นเรื่องใต้ร่มพระบารมี เป็นการนำเรื่องราวพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มานำเสนอ นอกจากนี้ยังมีหอจัดแสดงอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก 5 หอ ได้แก่หอเกียรติยศ หอสุพรรณ-พัสตร์หอหัตถศิลป์ระหว่างประเทศหอนวัตศิลป์และหอนิทรรศการโขน รวมถึงการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ที่ SACICT SHOPหอศิลปาชีพจะเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00 – 17.00 น.
"จริงๆ แล้วงานศิลปหัตถกรรมเหล่านี้ เป็นสิ่งที่อยู่กับคนไทยมานาน แล้วเรามีความภาคภูมิใจ แต่การจะทำให้งานศิลปหัตถกรรมเหล่านั้นยังอยู่ ก็ต้องอาศัยพลังคนไทยในการชื่นชม ใช้ และเผยแพร่ จึงอยากเชิญชวนให้คนไทย หรือผู้ที่เดินทางผ่านมาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แวะมาที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT เพื่อร่วมชื่นชมและสนับสนุนผลงานเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้ความรู้สึกของคนไทยที่รักในความเป็นไทยได้กระจายไปอยู่ในทุกๆ ที่"ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศกล่าวทิ้งท้าย