กฎหมายเลือกตั้งกับสิทธิและคุณภาพของงานวิชาการที่หายไป

ข่าวทั่วไป Monday December 17, 2007 14:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้กล่าวตอนหนึ่งของการเสวนาเรื่อง กฎหมายเลือกตั้งกับสิทธิและคุณภาพของงานวิชาการที่หายไปว่า มีหลายคนแม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนมากเข้าใจว่า กฎหมายเลือกตั้งที่กำลังมีผลบังคับใช้อยู่ขณะนี้ห้ามไม่ให้ทำโพลล์ก่อนวันเลือกตั้ง 7 วัน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำงานของคณะผู้วิจัย เพราะในความเป็นจริงกฎหมายเลือกตั้งไม่ได้ห้ามทำโพลล์
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า การทำโพลล์เลือกตั้งเพื่อสำรวจความคิดเห็นและพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนเป็นการทำหน้าที่ค้นหาข้อมูลอย่างเคร่งครัดต่อระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์และสถิติศาสตร์ โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในหลายด้าน ดังนี้
ด้านการศึกษา ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้ข้อมูลต่างๆ ตามความเป็นจริงทำให้ผลวิจัยทางวิชาการมีคุณภาพถูกต้องแม่นยำโดยคณาจารย์ผู้วิจัยนำระเบียบวิธีวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้
ด้านสังคม การทำโพลล์เลือกตั้งได้ร่วมกับกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่เป็นเยาวชนของสังคมสามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์มีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครทำงานและเรียนรู้ร่วมกับคณาจารย์ด้านการวิจัย ทำให้เด็กเยาวชนเหล่านี้ไม่ใช้เวลาไปมั่วสุมทำกิจกรรมอื่นที่อาจเป็นอันตรายต่อสังคม นอกจากนี้การร่วมงานแต่ละครั้งของเด็กเยาวชนจะถูกฝึกให้ได้รับความรู้เรื่องการทำวิจัยเบื้องต้น และการฝึกอบรมด้านคุณธรรมให้มีความซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่การงาน
ด้านการเมือง ที่ทำให้เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมทำโพลล์เลือกตั้งได้สัมผัสและสังเกตการณ์บรรยากาศการเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้ง ได้มีประสบการณ์ด้วยตนเองเกี่ยวกับสังคมประชาธิปไตย การทำโพลล์เลือกตั้งจึงเป็นกิจกรรมเชื่อมโยงและลดช่องว่างระหว่างการเมืองกับเยาวชนได้อีกด้วย
ด้านเศรษฐกิจ ที่การทำโพลล์ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงทำให้นักเรียนนักศึกษาสามารถทำงานมีรายได้ด้วยความสุจริต รู้จักทำงานที่เหน็ดเหนื่อยในการสัมผัสกับประชาชนที่ถูกศึกษาในงานภาคสนามและได้รับค่าตอบแทนที่สามารถนำไปจ่ายค่าเล่าเรียน จับจ่ายใช้สอยและส่งเงินที่เหลือไปให้พ่อแม่ในต่างจังหวัดได้ ซึ่งตั้งแต่เปิดสำนักวิจัยมากว่า 10 ปี ทำให้ปัจจุบัน มีศิษย์เก่าของสำนักวิจัยผู้เคย ทำโพลล์หารายได้จนเรียนจบ เป็นอัยการ ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ และพนักงานบริษัทต่างๆ เป็นจำนวนมาก
ด้านสังคมสื่อสารมวลชนสังคม ข้อมูลข่าวสารที่แสดงให้เห็นความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่าง โพลล์ สื่อมวลชน และการเมือง เพราะกองบรรณาธิการข่าวสามารถนำผลโพลล์ที่ทำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการไปสนับสนุนความคิดเห็นส่วนตัวของตนได้อย่างลงตัว และฝ่ายการเมืองที่มีทุนน้อยสามารถนำข้อมูลผลโพลล์ที่ได้จากสถาบันวิจัยอิสระและทำเพื่อสาธารณะแบบให้เปล่า ไปใช้เพื่อตอบสนองความต้อง การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน นอกจากนี้ การทำโพลล์ช่วยลดความไม่สมดุลของข้อมูลข่าวสารให้แก่สังคมเพราะถ้าไม่มีผลโพลล์ สังคมจะได้รับเพียงข้อมูลข่าวสารจาก “ชนชั้นนำของสังคม” ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นส่วนตัวและอาศัยประสบการณ์ตนเองชี้นำประชาชนด้วยอคติมากกว่าผลโพลล์เสียด้วย เพราะโพลล์เลือกตั้งมักจะทำให้ได้ภาพสะท้อนความคิดเห็นของคนทุกชนชั้น เมื่อไม่มีผลโพลล์ จึงทำให้ช่วงเวลา 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง กลายเป็นช่วงเวลาที่สาธารณชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากชนชั้นนำที่กลายเป็นผู้มีสิทธิพิเศษชี้นำเหนือประชาชนคนธรรมดาทั่วไป จนทำให้บางสำนักข่าวอาจไปสัมภาษณ์ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป แต่นั่นก็เป็นการเลือกสัมภาษณ์คนที่ไม่ใช้ระเบียบวิธีการเลือกที่ปลอดอคติเพราะเป็นการเลือกแบบเฉพาะเจาะจงหรือตามสะดวก
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณากฎหมายเลือกตั้งและการให้สัมภาษณ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในส่วนกลางแล้ว พบว่า กฎหมายไม่ได้ห้ามทำโพลล์ในช่วง 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง และกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามทำโพลล์หน้าหน่วยเลือกตั้ง (exit poll) ในวันเลือกตั้งด้วย แต่ปัญหาที่เกิด ขึ้นในวันนี้คือ คณาจารย์ นักศึกษาและเยาวชน ที่กำลังลงพื้นที่เก็บข้อมูลการทำวิจัยทั่วประเทศขณะนี้ ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองระดับนายอำเภอหลายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ สกัดกั้น ข่มขู่ ขับไล่เด็กและเยาวชนเหล่านี้ที่กำลังใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมเสมือนหนึ่งว่าพวกเราเป็นคนร้าย ตรงกันข้ามกลับต่อสายให้กับผู้มีอิทธิพล หัวคะแนนในพื้นที่เข้าทำร้ายพวกเรา ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย สิทธิเสรีภาพและคุณภาพของงานวิชาการ จึงใคร่ขอให้ผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมไทยช่วยสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและดูแลการทำงานของพวกเราในระดับพื้นที่ด้วย ทั้งนี้พวกเราขอยืนยันว่าพวกเราทำงานด้านนี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และต้องการทำโพลล์ให้เป็นต้นแบบที่ดีตามหลักวิชาการอย่างแท้จริง ส่วนความผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาต่อไป
ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
โทร. 02-7191546-49

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ