กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอเห็นชอบให้เพิ่ม"เมืองนวัตกรรมอาหาร" อีก 7 แห่งเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบด้านการเกษตรด้วยการวิจัยและพัฒนาในทุกภาคของประเทศ พร้อมขยายพื้นที่ในการให้สิทธิประโยชน์แบบอีอีซีไอให้ครอบคลุมถึงการลงทุนในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ต่างๆ ทั่วประเทศ ระหว่างที่การพัฒนาพื้นที่อีอีซีไอยังไม่แล้วเสร็จ
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบให้พื้นที่อีก 7 แห่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะประกาศเป็นเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ Food Innopolis ให้เป็นเขตส่งเสริมการลงทุน นอกเหนือจากโครงการ Food Innopolis ที่ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ. ปทุมธานี
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้กิจการที่เข้าไปลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษจากบีโอไอ เป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของโลก และสนับสนุนโครงการเมืองนวัตกรรมอาหารของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)
"กิจการเป้าหมาย เช่น การวิจัยพัฒนาด้านเกษตรอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ การปรับปรุงพันธุ์ และบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ที่จะเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองนวัตกรรมอาหารทั้ง 8 แห่ง นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล อย่างน้อย 5-10 ปี ตามหลักเกณฑ์พื้นฐานของแต่ละประเภทกิจการแล้ว ยังจะได้รับสิทธิเพิ่มเติมเป็นพิเศษ เช่น การลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี หรือเพิ่มจำนวนปีการยกเว้นภาษีเงินได้อีกด้วย เครือข่ายของเมืองนวัตกรรมอาหารจะกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ทั้งในส่วนกลาง เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และภูมิภาค เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์"
จูงใจเอกชนลงทุนด้านนวัตกรรมใน อีอีซีไอ
นางสาวดวงใจกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงานวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเสนอให้บีโอไอขยายสิทธิประโยชน์ที่ให้กับโครงการลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซีไอ ให้ครอบคลุมการลงทุนในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ต่างๆ ทั่วประเทศ ระหว่างที่การพัฒนาพื้นที่อีอีซีไอยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนในการย้ายเข้าไปตั้งในอีอีซีไอโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องการดำเนินกิจการในเร็วๆ นี้ และช่วยเร่งให้เกิดการลงทุนในอีอีซีไอโดยเร็วเมื่อพัฒนาแล้วในปี 2565
ทั้งนี้ที่ประชุมได้กำหนดเงื่อนไขว่า โครงการลงทุนที่จะยื่นขอสิทธิประโยชน์ตามมาตรการนี้จะต้องเป็นการลงทุนในกิจการเป้าหมายสำหรับอีอีซีไอ เช่น การวิจัยและพัฒนา บริการทดสอบวิทยาศาสตร์ การผลิตระบบอัตโนมัติ และการพัฒนาซอฟต์แวร์มูลค่าเพิ่มสูง เป็นต้น และจะต้องยื่นคำขอภายในวันที่ 30 ธันวาคม2562โดยจะต้องย้ายที่ตั้งไปอยู่ในเขตอีอีซีไอ ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565นอกจากนี้ ยังต้องมีการพัฒนาบุคลากรไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (S&T) ร่วมกับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด
จำนวนโครงการขอส่งเสริมครึ่งปีแรก เพิ่มร้อยละ 22
นางสาวดวงใจกล่าวเพิ่มเติมว่า บีโอไอได้รายงานบอร์ดบีโอไอถึงภาวะการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 (มกราคม – มิถุนายน 2561) ซึ่งมีการขอรับส่งเสริมการลงทุน 754 โครงการ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันของปี 2560 และมีมูลค่าเงินลงทุน 284,600 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ทั้งนี้พบว่า การขอรับส่งเสริมทั้งหมด เป็นโครงการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 316 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 46 ของจำนวนโครงการทั้งหมด มูลค่าเงินลงทุนรวม 224,150 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 82 ของมูลค่าเงินลงทุนโดยรวม
สำหรับการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี มีจำนวน 142 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 183,230 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 122 ซึ่งบีโอไอมั่นใจว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่อีกหลายรายจะยื่นขอรับส่งเสริมในช่วงครึ่งหลังของปี 2561