กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
กรุงไทยจับตาหยวนอ่อน หวั่นกระทบความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และการชำระหนี้ของบริษัทจีน คาดสงครามการค้าโลกกระทบส่งออกไทยในครึ่งหลังปีนี้
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยภายหลังสหรัฐได้ประกาศเก็บภาษีสินค้ากลุ่มเหล็กและเหล็กกล้า แผงโซลาร์ เครื่องซักผ้า ในระลอกแรก สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นของจีนในระลอกที่สองเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ส่งผลให้จีนประกาศตอบโต้ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบด้านการส่งออก ซึ่งคาดว่าการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังปีนี้จะชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรก โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่ส่งออกชิ้นส่วนไปให้จีนจะลดลง เนื่องจากมาตรการด้านภาษีของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2561 ที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกสินค้าคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนไปจีน เติบโต 10% ซึ่งยังไม่สะท้อนสงครามทางการค้าดังกล่าว นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้สั่งการให้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีกระลอก โดยมีมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีจำนวนสินค้ากว่า6,000 รายการ ซึ่งจะทราบรายชื่อสินค้าประมาณเดือนสิงหาคม ภายหลังการทำประชาพิจารณ์
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ กล่าวว่า สงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ได้ประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วง 1-2ปีข้างหน้า จะลดลง 0.5% และคาดว่าเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศเกิดใหม่ จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากปัจจัยในประเทศของกลุ่มประเทศเหล่านี้ ทั้งการลงทุน การบริโภค และนโยบายภาครัฐ ช่วยการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก
ปัจจัยที่น่าจับตามอง คือ ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา แตะที่ระดับประมาณ 6.8 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 6.5หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินหยวนก็อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท ซึ่งทางการจีนอาจใช้การอ่อนค่าเงินหยวนเป็นมาตรการช่วยลดผลกระทบจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ เพื่อทำให้กำไรจากการค้าในรูปเงินสกุลท้องถิ่นเพิ่มขึ้น เพื่อเอื้อให้บริษัทจีนมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น แต่จะส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยได้
"เริ่มเห็นสัญญาณการอ่อนตัวของค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐอย่างต่อเนื่อง และเป็นการอ่อนค่ามากกว่าค่าเงินบาท ซึ่งอาจจะกระทบต่อการแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีน และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะตัวเลขมูลค่านำเข้าสินค้าของไทยจากจีนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เช่น สินค้าวัตถุดิบอย่างเหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์เหล็กที่จีนอาจพยายามหาตลาดอื่นทดแทนสหรัฐฯ"
นอกจากนี้ ตลาดการเงินโลกค่อนข้างอ่อนไหวกับการอ่อนค่าของค่าเงินหยวน เนื่องจากภาคธุรกิจของจีนมีภาระหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ค่อนข้างมาก เมื่อค่าเงินหยวนอ่อนค่ามากกว่า 6.8 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ อาจส่งผลให้นักลงทุนมีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยง เพราะหวั่นความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทจีนในอนาคต