กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--สมาร์ทวิน
บริษัทแอปเปิลเปิดตัวแอปสโตร์ (App Store) สำหรับดาวน์โหลดแอปพลิเคชันผ่านสมาร์ทโฟนเป็นครั้งแรกเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมปี 2008 ในเวลานั้น น้อยคนนักที่จะรู้ว่าในอนาคตสิ่งนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญกับชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ย้อนกลับไปในยุคบุกเบิกของแอปพลิเคชัน สมาร์ทโฟนถือเป็นสินค้าราคาแพงสำหรับลูกค้ากลุ่มบนเท่านั้น แต่ปัจจุบันใครๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนได้ เนื่องจากการแข่งขันของแบรนด์ผู้ผลิตต่างๆ ที่เน้นขยายตลาดด้วยการผลิตสมาร์ทโฟนในราคาที่จับต้องได้ เพื่อเป็นการตอบโจทย์ให้กับผู้บริโภคทุกกลุ่มทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือมากที่สุดในโลก อีกทั้งยังเคยเป็นอันดับ 1 ของการทำตลาดผ่านมือถือเป็นช่องทางหลัก (mobile-first market) ในปี 2558 จากผลสำรวจของ Google's 2015 Consumer Barometer ด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่สมาร์ทโฟนจะมีจำหน่ายอย่างแพร่หลาย แม้แต่ในร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่น-อีเลฟเว่น
ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาแอปสโตร์สามารถทำยอดดาวน์โหลดจากผู้ใช้ทั่วโลกไปแล้วกว่า 170 พันล้านครั้ง ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 130 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นการร่วมฉลองเดือนแห่งการครบรอบ 10 ปีของแอปสโตร์ บริษัทแอ๊พซินท์ เอเจนซี่ผู้นำแห่งการพัฒนาแอปพลิเคชันในประเทศไทย ได้สรุปแนวโน้มตลาดโมบายล์แอปพลิเคชันในธุรกิจประเภทต่างๆ จาก 20 อันดับแอปพลิเคชันยอดนิยมในรอบ 10 ปีของแอปสโตร์ซึ่งการจัดอันดับในครั้งนี้เป็นการจัดอันดับจากยอดดาวน์โหลดแอปของธุรกิจในประเทศไทยเท่านั้น โดยไม่รวมแอปพลิเคชันประเภทเกม ซึ่งข้อมูลทั้งหมดของการจัดอันดับครั้งนี้ถูกรวบรวมโดย App Annie บริษัทผู้นำด้าน วิเคราะห์การใช้งานแอปพลิเคชัน (app analytics) และเก็บข้อมูลทางการตลาดของแอปพลิเคชันทั่วโลก
ผลของการจัดอันดับสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของแอปพลิเคชันในแต่ละธุรกิจตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรายการโทรทัศน์ ธุรกิจกลุ่มธนาคารซึ่งมีแนวโน้มชัดเจนในการส่งเสริมการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด ตลอดจนกลุ่มธุรกิจร้านค้าและร้านอาหารที่เน้นการแชร์ประสบการณ์ของการใช้บริการ รวมถึงระบบการสะสมแต้มหรือ loyalty program เรียกได้ว่าโมบายล์แอปพลิเคชันนั้นมีความสำคัญในชีวิตประจำวันของคนไทยเป็นอย่างมากตลอดระยะเวลา10 ปีที่ผ่านมาและยังมีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
จากแนวโน้มของตลาดโลกในปัจจุบัน ธุรกิจกลุ่มธนาคารกำลังเผชิญกับการสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับคู่แข่งที่ทุ่มการลงทุนบนดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นหลัก รวมถึงกลุ่ม ฟินเทค สตาร์ทอัพ หรือกลุ่มผู้พัฒนาโซลูชั่นทางการเงินขนาดเล็ก ที่พยายามเข้ามามีบทบาทในการยึดพื้นที่การให้บริการด้านการเงินแทนกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินในรูปแบบเดิม เช่น การเสนอทางเลือกของ mobile payment หรือการใช้จ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยผู้บริโภคสามารถเติมเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัล (digital wallet) เพื่อใช้ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ได้โดยไม่ต้องใช้เงินสด เทคโนโลยีดังกล่าวถือเป็นการตัดระบบการให้บริการของธนาคารแบบเดิมๆ ออกจากวงจรการใช้งานของผู้บริโภค ซึ่งธนาคารหลายแห่งในประเทศไทยสามารถรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี โดยเร่งลงทุนและพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มของตนเองในช่องทางต่างๆ อีกทั้งยังร่วมมือกับกลุ่ม ฟินเทค สตาร์ทอัพ ในการคิดค้นสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบรับการใช้งานที่หลากหลายของผู้บริโภคในอนาคต จึงเป็นผลให้ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ครองตำแหน่ง 2อันดับแอปพลิเคชันยอดนิยมจากทั้ง 20 อันดับ
คุณพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า "จุดแข็งที่ทำให้ K PLUS แตกต่างจากแอปของธนาคารอื่นก็คือ เราให้ความสำคัญในการใช้งานแบบโมบายล์เฟิร์ส โดยเน้นสร้างประสบการณ์การใช้งานแบบใหม่ ผ่าน Personalization ฟีเจอร์ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคที่หลากหลาย โดยธนาคารกสิกรไทยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นกว่าเดิมในปีต่อๆไป เพื่อให้ K PLUS คงความเป็นแอปที่ตอบสนองดิจิตอลไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในทุกๆ วัน"
ทางธนาคารไทยพาณิชย์ ก็เล็งเห็นเช่นกันว่ากลยุทธ์การตลาดแบบ Personalization (การปรับแต่งคุณสมบัติในแอปให้ตรงตามความชอบของแต่ละบุคคล) นั้นเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับผู้บริโภค โดยการใช้โมบายล์เป็นช่องทางหลักในการให้บริการ
คุณธนา โพธิกำจร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสาย Digital Banking กล่าวว่า "SCB EASY ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ โดยเชื่อมโยงบริการทางการเงินทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความสำเร็จของ SCB EASY คือ บทพิสูจน์ของความทุ่มเทในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่สามารถรองรับพฤติกรรมการใช้งานและความต้องการของผู้บริโภคอย่างรอบด้าน เพราะเราเล็งเห็นว่าผู้บริโภคไม่ได้เจาะจงการใช้งานเพียงช่องทางใดช่องทางหนึ่ง แต่จะเลือกใช้งานบนช่องทางที่สะดวกที่สุดในขณะนั้น เราจึงต้องสร้างทางเลือกของการใช้บริการที่หลากหลาย เพื่อรองรับการใช้งานของผู้บริโภคในทุกที่ ทุกเวลา"
ขณะที่ Alternative banking หรือกลุ่มทางเลือกใหม่ของผู้ให้บริการด้านการเงิน เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญแทนที่ธุรกิจการเงินแบบเดิมๆ TrueMoney Wallet ผู้ครองอันดับ 5 ของชาร์ต ถือเป็นผู้นำของการให้บริการใช้จ่ายเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายในร้านค้า การจ่ายบิลด้วยการแสกน แม้แต่การเติมเงินโทรศัพท์มือถือก็สามารถทำได้ผ่านแอปพลิเคชันเดียวกันนี้ได้ นอกจากการเติมเงินเข้า TrueMoney Wallet ด้วยเงินสดแล้ว ผู้ที่มีบัญชีธนาคารก็สามารถผูกบัญชีกระเป๋าเงินดิจิทัล กับบัญชีธนาคารเพื่อใช้การเติมเงินแบบอัตโนมัติได้อีกด้วย ถือเป็นทางเลือกใหม่ของการใช้บริการด้านการเงินที่สะดวกสบายกว่าการใช้บริการกับธนาคารแบบเดิมๆ
อันดับที่ 3 ของชาร์ต ถือเป็นอีกหนึ่งอันดับที่น่าสนใจ เพราะเป็นเพียงแอปพลิเคชันเดียวที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักพัฒนาอิสระ และกลายเป็นแอปยอดนิยมของคนไทยทั่วประเทศในที่สุดTV Thailand นั้นเป็นแอปที่ให้บริการในการรับชมละครฮิต การ์ตูน และมิวสิกวิดีโอ ในทุกที่ ทุกเวลา ผลสำรวจระบุว่ากว่า 51% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนในประเทศไทย ดูวิดีโอผ่านโทรศัพท์มือถือทุกวัน และ 81% ดูอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ จึงไม่น่าแปลกใจที่แอปผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง จะติด 20 อันดับยอดนิยม ถึง 4 แอปด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ Thai TV3 app ตอนนี้ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Mello ซึ่งเป็นเพียงแอปเดียวที่ถ่ายทอดคอนเทนต์โดยตรงจากผู้ผลิตรายการทีวีชั้นนำของประเทศ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่า การที่จะผลิตแอปพลิเคชันให้ประสบผลสำเร็จได้ในตลาดนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการลงทุนที่มหาศาลหรือความยิ่งใหญ่ของธุรกิจ หากแต่ขึ้นอยู่กับการให้บริการกับผู้บริโภคอย่างตรงจุด
อีกหนึ่งแอปในชาร์ตที่น่าสนใจคือ Wongnai ซึ่งเป็นหนึ่งในสองของสตาร์ทอัพที่ทำตลาดผ่านมือถือเป็นช่องทางแรก (mobile-first startups) ที่ติดอันดับ 20 แอปยอดนิยม โดยWongnai แอปพลิเคชัน เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 เริ่มต้นจากการเป็นอินดี้แอปที่รวบรวมข้อมูลร้านอาหารเด็ดๆ ในประเทศไทย ถึงวันนี้ Wongnai ประสบความสำเร็จในการเป็นกูรูร้านอาหารอันดับ 1 ในไทย โดยที่แอปพลิเคชันมียอดดาวน์โหลดสูงเป็นอันดับ 9 ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
นายยอด ชินสุภัคกุล ซีอีโอ วงในเผยเคล็ดลับความสำเร็จว่า "สิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดของแอพเราก็คือ มันช่วยให้ผู้ใช้งานค้นหาร้านอาหารชื่อดังในละแวกใกล้เคียงได้อย่างทันที เป็นฟีเจอร์ที่ทุกคนชอบเพราะตอบโจทย์ความต้องการของพวกเค้าได้จริงๆ"
อีกหนึ่ง mobile-first startup ในชาร์ตก็คือ Kaidee ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันตลาดมือสองบนดิจิทัลแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กว่า 50% ของผู้เข้าชมแพลตฟอร์มต่อเดือนคือผู้ใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน ถ้าคิดเป็นจำนวนครั้งจะมากถึง 30 ล้านครั้ง นี่คือเหตุผลที่ทำให้แอปนี้ติดอันดับที่ 8 ใน 20 อันดับต้น โดยมียอดดาวน์โหลดทั้งหมดกว่า 12 ล้านครั้ง แอปKaidee ถือเป็นหัวใจหลักในการเติบโตที่รวดเร็วของบริษัท เช่นเดียวกับที่คุณทิวา ยอร์ค Head Coach/CEO ได้ให้ความเห็นกับทาง Appsynth
"ตั้งแต่ปี 2556 Kaidee วางแผนพัฒนาการตลาดแบบ app-first ซึ่งเน้นโมบายล์เป็นแพลตฟอร์มหลัก การลงทุนครั้งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราได้ทำความรู้จักและเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคที่พึ่งเริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ตครั้งแรกผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้ Kaidee มีผู้ใช้งานผ่านโมบายล์แอปมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่องทางอื่นๆ ความสำเร็จครั้งนี้มาจากความมุ่งมั่นในการสร้างประสบการณ์การซื้อ-ขาย ที่ง่ายและเร็วที่สุดสำหรับคนไทยเป็นหลัก"
จากแพลตฟอร์มการซื้อ-ขายออนไลน์ มาถึงธุรกิจสายการบินกันบ้าง นกแอร์ หนึ่งในสายการบินประเภทโลว์คอส ของไทยเป็นแอปพลิเคชันเดียวที่ติดยี่สิบอันดับแรกด้วยการให้บริการเส้นทางการบินที่ครอบคลุมและแผนการตลาดที่เจาะจงไปยังผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม ทำให้นกแอร์เป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ของผู้บริโภค นอกจากนั้น นกแอร์ยังให้ความสำคัญกับการให้บริการผ่านโมบายล์ที่สะดวก ในทุกที่ ทุกเวลา จึงไม่น่าแปลกที่แอปนกแอร์ จะเป็นโมบายล์แอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาสายการบินภายในประเทศอื่นๆ
และสุดท้าย แอปหนึ่งเดียวที่ติด 20 อันดับแรก ในธุรกิจประเภทร้านค้าปลีก คือ เซเว่น-อีเลฟเว่น ผู้นำตลาดกลุ่มร้านสะดวกซื้อในประเทศไทย โดย เซเว่น-อีเลฟเว่น ได้ก้าวเข้ามาบนโมบายล์แพลตฟอร์มเพียงไม่นาน แต่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก แอป 7-Eleven TH เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้การใช้จ่ายในร้าน เซเว่น-อีเลฟเว่น นั้นสะดวกสบายมากขึ้นกับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์การสะสมแสตมป์ดิจิทัลผ่านแอป ที่ง่ายกว่าการสะสมแสตมป์กระดาษแบบเดิมๆ รวมถึงการเข้าถึงโปรโมชั่น กิจกรรม และส่วนลดพิเศษอื่นๆ อีกมากมายผ่าน 7Rewards ซึ่งเป็น loyalty campaign หลักภายในแอป สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันแอป 7-Eleven TH ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเป็นหนึ่งใน 5 อันดับต้นของแอปพลิเคชันยอดนิยมในปี 2561 ด้วย
พร้อมกันนี้มิสเตอร์โรเบิร์ต แกลลาเกอร์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัทแอ๊พซินท์ ได้ให้ความเห็นว่า "กว่า 71% ของคนไทยในปัจจุบันใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งแอปพลิเคชันมีบทบาทอย่างมากในการเปลี่ยนรูปแบบการซื้อสินค้าและบริการ การติดต่อสื่อสารกับแบรนด์ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้ธุรกิจชั้นนำด้านต่างๆ จึงหันมาใช้โมบายล์เป็นช่องทางหลักในการส่งเสริมธุรกิจบนโลกดิจิทัล"
เกี่ยวกับแอ๊พซินท์ (Appsynth)
แอ๊พซินท์ คือเอเจนซี่ผู้นำแห่งการพัฒนาแอปพลิเคชันในประเทศไทย ให้บริการด้านการพัฒนาและการตลาดอย่างเต็มรูปแบบ กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศกว่า เช่น เซเว่น-อีเลฟเว่น, ไลน์, ทรู, โตโยต้า, กรุงไทย แอ๊กซ่า, คาสิโอ, บริติช เคาน์ซิล และธนาคาร เดอะรอยัลแบงค์อ๊อฟสกอตแลนด์ ปัจจุบัน แอ๊พซินท์ ได้ให้บริการลูกค้าทั่วโลกกว่า 15 ประเทศ สร้างผลกำไรกว่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ และสร้างยอดดาวน์โหลดให้กับลูกค้ารวมกันกว่า 30 ล้านครั้ง
ดูข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ www.appsynth.net
เกี่ยวกับ App Annie
App Annie คือบริษัทผู้นำด้านวิเคราะห์และเก็บข้อมูลทางการตลาดของแอปพลิเคชันทั่วโลก โดยสมาชิกมากกว่า 1 ล้านรายใช้ข้อมูลจาก App Annie เพื่อทำความเข้าใจตลาดแอปพลิเคชันในธุรกิจของตนและโอกาสทางธุรกิจอื่นๆรอบด้าน สำนักงานใหญ่ของ App Annie ตั้งอยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก ซึ่งมีทีมงานกว่า 450 คน ใน 15 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ App Annie ยังเคยได้รับเงินทุนกว่า 157 ล้านเหรียญสหรัฐ จากหลายผู้ลงทุนชั้นนำของโลก เช่น e.ventures, Greenspring Associates, Greycroft Partners, IDG Capital Partners, Institutional Venture Partners และ Sequoia Capital
ดูข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ www.appannie.com
ข้อมูลอ้างอิง
- ผลสำรวจ Google Barometer ในปี 2015 และ 2017
- รายงานจาก We Are Social Global Digital Report ปี 2018