กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--ปตท.สผ.
- ปริมาณขายเฉลี่ยฟื้นตัว พร้อมปรับเป้าปริมาณขายสำหรับปี 2561 เป็น 310,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
- ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันตลาดโลก
- เดินหน้าบริหารจัดการการลงทุนตามกลยุทธ์ Refocus ทั้งความสำเร็จในการซื้อสัดส่วนเพิ่มในแหล่งบงกช และการขายสัดส่วนการลงทุนในแหล่งมอนทารา
ปตท.สผ. เผยผลประกอบการครึ่งแรกปี 2561 สามารถสร้างกำไรสุทธิ 536 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ( ดอลลาร์ สรอ.) จากการเติบโตของปริมาณการขายและราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นตามการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และพิจารณาจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 1.75 บาทต่อหุ้น
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ผลประกอบการของ ปตท.สผ. ในครึ่งแรกของปี 2561 มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ (recurring net income) อยู่ที่ 640 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 20,381 ล้านบาท)สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 69 จาก 378 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 13,154 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ. มีขาดทุนจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (non-recurring items) รวม 104 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 3,410 ล้านบาท) โดยหลักเป็นการขาดทุนและค่าใช้จ่ายทางภาษีจากการอ่อนตัวของค่าเงินบาทระหว่างงวด และขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่กระทบต่อกระแสเงินสดของ ปตท.สผ. ส่งผลให้ครึ่งแรกของปี 2561 มีกำไรสุทธิ (net income) 536 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 16,971 ล้านบาท) ลดลงประมาณร้อยละ 6 จาก 569 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 19,820 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560
ทั้งนี้ ปตท.สผ. มีรายได้รวมในครึ่งปีแรก จำนวน 2,562 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 81,343 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จาก จำนวน 2,121 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 73,693 ล้านบาท) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่ปรับตัวสูงเป็น 45.51 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จาก 38.04 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และปริมาณขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 297,999 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จาก 292,709 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ในส่วนของต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) สำหรับครึ่งปีแรกปรับตัวขึ้นจาก 28.29 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ มาอยู่ที่ 30.37 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 7% เป็นผลของค่าภาคหลวงที่สูงขึ้นตามรายได้และการปรับตัวของค่าเสื่อมจากการรับรู้สินทรัพย์ที่พร้อมใช้งานของโครงการคอนแทร็ค 4 และโครงการเอส 1 ซึ่ง ปตท.สผ. เชื่อว่าจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยสำหรับปี 2561 ได้ในระดับ 30-31 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
ปันผลระหว่างกาล 1.75 บาทต่อหุ้น
จากผลประกอบการดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 ได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงานของ ปตท.สผ. งวด 6 เดือนแรกปี 2561 ในอัตราหุ้นละ 1.75 บาท สอดคล้องกับนโยบายการให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอแก่ผู้ถือหุ้น โดย ปตท.สผ. กำหนดวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (record date) ในวันที่ 9 สิงหาคม 2561และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 24 สิงหาคม 2561
ความคืบหน้าทางธุรกิจ
ปตท.สผ. ยังเน้นดำเนินธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ 3R (Reset-Refocus-Renew) โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ได้มีความคืบหน้าจากการดำเนินการตามกลยุทธ์ Refocus โดยการเข้าซื้อสัดส่วนในโครงการบงกชจากบริษัทในเครือของกลุ่มเชลล์แล้วเสร็จ ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีสัดส่วนการถือสัดส่วนในโครงการบงกชเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 66.6667 และปริมาณการขายเพิ่มขึ้นประมาณ 35,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
"ปตท.สผ. มองหาโอกาสและปรับแผนการลงทุนอยู่เสมอ สะท้อนผ่านการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา จากการเข้าซื้อสัดส่วนร้อยละ 22.2222 ในแหล่งบงกช ล่าสุดในเดือนกรกฎาคม ปตท.สผ. ได้อนุมัติขายสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดในแหล่งมอนทารา พร้อมทั้งเดินหน้าประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ โดย ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการลงทุนและความพยายามที่จะเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติมในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีความชำนาญและความเสี่ยงต่ำ โดยหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลางเพื่อสร้างความเติบโตทั้งในเรื่องของปริมาณขายและปริมาณสำรอง " นายสมพร กล่าว
นอกจากนี้ โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ได้รับอนุมัติแผนพัฒนาจากรัฐบาลแอลจีเรียแล้ว ขณะที่โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน มีความคืบหน้าอย่างมากทั้งในเรื่องการเตรียมการก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว และการสรุปสัญญาซื้อขายระยะยาวกับผู้ซื้อ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision หรือ FID) โดยมีเป้าหมายภายในครึ่งแรกของปีหน้า