กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เด็กไทยนำผลงาน"การควบคุมการสร้างพรอพอลิสของชันโรง" คว้ารางวัล โครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนอาเซียนแห่งปี ในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 4 (The 4TH ASEAN Student Science Project Competition) (ASPC 2018) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า "การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 4 โดยการผนึกกำลังของ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนในกลุ่มประเทศอาเซียนได้มีเวทีประกวดโครงงานด้านวิทยาศาสตร์ที่มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 27 กรกฎาคม 2560 ณ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งในปีนี้มีเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 – 6 หรือเทียบเท่า จาก 7 ประเทศ ประกอบไปด้วย ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา มานำเสนอผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ รวม 80คน ทั้งหมด 39 โครงงาน โดยการประกวดจะแบ่งออกเป็น 3 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ โดยในปีนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่มีเยาวชนจากประเทศกัมพูชาเข้าร่วมการประกวดโครงงานในครั้งนี้เป็นปีแรก"
จากการประกวดฯ ผลปรากฏว่า นางสาวนัฐกาญจน์ พรหมมินทร์ นางสาวเมธาวี หลี่จา และนายชนม์ณภัทร หลวงหาญ จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ สามารถคว้ารางวัล โครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนอาเซียนแห่งปี (ASPC2018 Project of the year) จากโครงงาน "การศึกษาพฤติกรรมในการซ่อมแซมรังเพื่อใช้ควบคุมการสร้างพรอพอลิส ของชันโรง" (A New Method to Increase Propolis Production by Activating Nest Repair Behavior in Stingless Bees) โดยนางสาวเมธาวี ตัวแทน โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ ได้อธิบายว่า "พรอพอลิสเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ผึ้งชันโรง (Tetragonula pegdeni) สร้างขึ้นเพื่อใช้ป้องกันเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม ภายในรัง โดยสังเกตจากการพบรอยฉีกขาดในรังผึ้งชันโรง และผึ้งนั้นมีการซ่อมรังโดยการสร้างพรอพอลิสเพื่อปิดรอยฉีดขาดดังกล่าวด้วยตัวมันเอง อีกทั้งสารดังกล่าวยังมีมูลค่าเศรษฐกิจสูง จึงถูกนำไปใช้ในการผลิตเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันหลายชนิด เช่น การใช้สารพรอพอลิสในเครื่องสำอางจะช่วยเพิ่มคุณสมบัติในการชะลอวัย เพราะสารดังกล่าวมีสารที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของการทำลายผิว"
ทั้งนี้ เยาวชนไทยยังสามารถคว้ารางวัลที่ 1 มาครองอีก 2 สาขา คือ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ จากโครงงาน "วิธีการยืนยันตัวตนบุคคลโดยใช้คลื่นสมองที่ถูกกระตุ้นด้วยวิธีการมองเห็น" (EEG-based person authentication method with deep learning using visual stimulation) โดย นายศุภวิชญ์ ผึ้งแดง จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากโครงงาน "การกำจัดขยะทางการเกษตรด้วยจุลินทรีย์จากจาวปลวกสกุล Microtermes" (Novel Approach to Improve Local Wisdom Termite Mounds in Treating Agricultural Waste) โดย นายศิวกร ชาญชโลธร และนายอธิศ เตชะนิธิสวัสดิ์ จาก โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
ส่วนในสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ รางวัลชนะเลิศเป็นของประเทศอินโดนีเซีย ในชื่อโครงงาน "การพัฒนาสารเคลือบสังเคราะห์นาโนด้วยสารไคโตซาน"(Development of Nano-Synthetic Coatings from Green Shell Chitosan as Corrosion Inhibitor on Vesset Surface) เจ้าของผลงาน โดย A Muhammad Athallah Naufal
รศ.ดร.ทิพาพร ลิมปเสนีย์ อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า "จากการที่เยาวชนไทยได้รับรางวัลจากโครงการนี้ ถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีระดับอาเซียน อพวช. และทางสมาคมวิทย์ฯ มุ่งหวังที่จะให้เยาวชนไทยได้มีเวทีสร้างผลงานการประกวดโครงงานด้านวิทยาศาสตร์ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งกิจกรรมนี้ยังส่งเสริมให้เยาวชนอาเซียนได้ใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สร้างสรรค์แนวคิดด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถนำไปบูรณาการแก้ไขปัญหาได้ในชีวิตประจำวัน ในประเทศของตน ตลอดจนในภูมิภาคอาเซียนได้อีกด้วย"