กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์
แอร์บัสทำการฉลองอีกหนึ่งหน้าความสำเร็จในประวัติศาสตร์ของบริษัทและอุตสาหกรรมอากาศยานในโอกาสที่เครื่องบินแอร์บัสลำที่ 5,000 ได้รับการส่งมอบให้แก่สายการบินแควนตัสในพิธีที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ ณ เมืองตูลูส โดยเครื่องบินลำที่ 5,000นี้ได้แก่เครื่องบินแอร์บัสรุ่นเอ3330-200
ในเดือนพฤษภาคมพ.ศ.2517 แอร์บัสทำการส่งมอบเครื่องบินลำแรกของบริษัทคือเครื่องบินรุ่นเอ300บี2ให้แก่สายการบินแอร์ฟร๊านซ์ สิบเก้าปีหลังจากนั้นในพ.ศ.2536 แอร์บัสสามารถส่งมอบเครื่องบินลำที่ 1,000 และในพ.ศ.2542 สามารถส่งมอบเครื่องบินลำที่ 2,000 การเติบโตอย่างต่อเนื่องรวมทั้งตระกูลเครื่องบินและรุ่นของเครื่องบินที่มีนำเสนอเพิ่มมากขึ้นทำให้แอร์บัสสามารถส่งมอบเครื่องบินลำที่ 3,000 ได้ในปีพ.ศ. 2545และถัดจากนั้นอีกเพียง 3 ปี คือในพ.ศ.2548 เครื่องบินลำที่ 4,000 ก็ได้รับการส่งมอบ จนอีกเพียง 2 ปีต่อมาเครื่องบินลำที่ 5,000 ก็ได้ทำการส่งมอบท่ามกลางความปลาบปลื้มและภาคภูมิใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ภายในช่วงเวลาประมาณ 30 ปี เครื่องบินแบบที่มีจำนวนที่นั่งมากกว่า 100 ที่นั่งที่มีปฏิบัติการอยู่ในทุกสายการบินทั่วโลก เป็นเครื่องบินซึ่งผลิตโดยแอร์บัสถึงกว่าร้อยละ 50 นอกจากนั้นแอร์บัสใช้เวลาประมาณ 30 ปีเช่นกัน (นับจากการก่อตั้งเมื่อพ.ศ.2513) ในการแซงหน้าคู่แข่งหลักในด้านของยอดขายและยึดครองส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ50 อีกทั้งสามารถครองส่วนแบ่งตลาดเกินร้อยละ50 เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกันนับตั้งแต่พ.ศ.2544
ประวัติการดำเนินธุรกิจของแอร์บัสแสดงถึงความพยายามที่ยาวนานจนสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดที่มีการแข่งขันอย่างเข้มข้นและจำเป็นต้องใช้ความมุ่งมั่นในระยะยาวดังเช่นตลาดอุตสาหกรรมการบิน“ความสำเร็จนี้ต้องการมากกว่าการมีวิสัยทัศน์เพียงอย่างเดียว เนื่องจากความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงและความพร้อมที่จะลงทุนในระยะยาวล้วนแต่เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งวันนี้แอร์บัสพร้อมที่จะให้ความมั่นใจแก่ลูกค้า พนักงาน ซับพลายเออร์ตลอดจนผู้ถือหุ้นทุกฝ่ายว่าเราจะสานต่อความสำเร็จนี้ให้ยิ่งใหญ่ รวมทั้งมีความก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งด้วยการคงความสามารถทางการแข่งขันและความยอดเยี่ยมในเครื่องบินทุกๆลำของแอร์บัส” มร. ทอม เอ็นเดอร์ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแอร์บัสกล่าว
แอร์บัสได้เร่งระดับกำลังการผลิตขึ้นอย่างมากและต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการผลิตเครื่องบินตระกูลเอ330/เอ340 ให้ได้ถึง 10 ลำต่อเดือน เครื่องบินตระกูลเอ320 ให้ได้ถึง 40 ลำต่อเดือน และเครื่องบินรุ่นเอ380 ให้ได้ถึง 4 ลำต่อเดือน ภายในปีพ.ศ.2553 ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่มีให้กับเครื่องบินแอร์บัส ด้วยการเร่งระดับกำลังการผลิตนี้ เครื่องบินซึ่งอยู่ในตารางการผลิตรอส่งมอบกว่า 3,000 ลำ จึงมีกำหนดจะส่งมอบได้ครบภายในเพียงห้าถึงหกปีข้างหน้า
สายการบินแควนตัสเป็นหนึ่งในสายการบินที่เก่าแก่ที่สุดของโลกโดยก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2464 และเริ่มเป็นลูกค้าของแอร์บัสในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ด้วยการสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นเอ380 12 ลำและเครื่องบินตระกูลเอ330 จำนวน 13 ลำ ปัจจุบันเครือสายการบินแควนตัสซึ่งรวมเจ็ทสตาร์ที่เป็นสายการบินในเครือ มีเครื่องบินแอร์บัสอยู่ในการปฏิบัติการทั้งสิ้น 36 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินรุ่นเอ330-300 จำนวน 10 ลำ รุ่นเอ330-200 จำนวน 6 ลำ และเครื่องบินในตระกูลเอ320 จำนวน 20 ลำ รวมทั้งยังมีคำสั่งซื้อเพิ่มเครื่องบินตระกูลเอ330 จำนวน 4 ลำ และเครื่องบินรุ่นเอ380 จำนวน 20 ลำ ตลอดจนในเดือนพฤศจิกายนพ.ศ. 2550 สายการบินแควนตัสยังได้แสดงเจตนารมย์ที่จะสั่งซื้อเครื่องบินตระกูลเอ320 เพิ่มอีก 50 ลำ
เครื่องบินอันทันสมัยและครอบคลุมครบทุกส่วนตลาดของแอร์บัสประกอบด้วยเครื่องบินที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง 5 ตระกูลซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้ตั้งแต่ 107 ถึง 525 ที่นั่ง ตั้งแต่เครื่องบินแบบช่องทางเดินเดี่ยวตระกูลเอ320 (ประกอบด้วยรุ่นเอ318/เอ319/เอ320/เอ321) เครื่องบินแบบลำตัวกว้างตระกูลเอ300/เอ310 เครื่องบินแบบลำตัวกว้างสำหรับการบินพิสัยไกลตระกูลเอ330/เอ340 เครื่องบินรุ่นใหม่ล่าสุดเอ350 เอ็กซ์ดับเบิ้ลยูบี และเครื่องบินสองชั้นสำหรับการบินพิสัยระยะไกลพิเศษเอ380 แนวความคิดในการออกแบบให้เครื่องบินแต่ละรุ่นในตระกูลเดียวกันมีความคล้ายคลึงกัน ทั้งทางด้านรูปแบบ ระบบการทำงาน ห้องควบคุม วิธีการสั่งงาน ทำให้มั่นใจได้ว่าเครื่องบินแอร์บัสที่มีระบบช่วยเหลือด้านการบินอัจฉริยะ (fly-by-wire) จะช่วยลดและควบคุมค่าใช้จ่ายของสายการบินผู้ให้บริการให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น จนถึงปัจจุบันเครื่องบินแอร์บัสมียอดการสั่งซื้อแล้วรวมทั้งสิ้น 8,000 ลำโดยลูกค้ากว่า 280 ราย
แอร์บัส เป็นบริษัทในเครือ EADS
หมายเหตุ : สามารถดาวน์โหลดรูปภาพได้ที่ ftp//217.71.210.146
ยูสเซอร์เนม : airbus5000
พาสเวิร์ด : airbus5000
ภาพวิดีโออยู่ในฟอร์แม็ท Quick Time DV PAL (ขนาดภาพ 720 X 576 พิกเซล)