กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อีกไม่กี่เดือนจะได้เห็นหน้าตากันแล้วสำหรับ 20 บอร์ดเกมเพื่อสังคม ฝีมือเด็กมัธยมปลายจากทั่วประเทศ ผลผลิตจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท บ้านปู ที่บ่มเพาะเยาวชนกว่า 100 คน กันมายาวนานเกือบปี บอร์ดเกมจะแก้ปัญหาสังคมได้อย่างไร แล้วบอร์ดเกมสร้างการเรียนรู้ได้จริงหรือไม่ มาสัมผัสและเรียนรู้กันในวันที่ 6 – 7 ตุลาคม 2561 พบกันในงานมหกรรมเกมเพื่อการเรียนรู้ที่ ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
เข้มข้นขึ้นทุกทีแล้ว สำหรับ "โครงการออกแบบเกมออกแบบสังคม" ที่จัดโดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่นำกระบวนการพัฒนาบอร์ดเกมเพื่อสังคม มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเยาวชนนวัตกร
เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมานี้ ทีมนักพัฒนาเกมได้ลงพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ ไปพบกับน้องๆ ทั้ง 20 ทีมที่ร่วมโครงการ เพื่อให้คำแนะนำและปรับแก้เกมเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการสร้างเกมต้นแบบ พร้อมทดลองในเดือนตุลาคม
รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ เห็นความสำคัญว่าเยาวชนควรได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการสร้างสรรค์นวัตกรรม จึงได้มีการออกแบบกระบวนการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical and Analytical Thinking) การคิดและการสื่อสารความคิดสร้างสรรค์ (Communicating and Thinking Creatively) และภาวะผู้นำ (Leadership) ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) โดยใช้กระบวนการออกแบบบอร์ดเกม ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ผู้เรียนเห็นกระบวนการพัฒนานวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบในเวลาอันสั้น และเกมยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เปิดให้ผู้เรียนสามารถแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างอิสระด้วย
เกมทั้ง 20 เกมที่น้องๆ พัฒนาขึ้นนั้นไม่ได้เป็นเพียงเกมที่มุ่งเน้นความสนุกสนานทั่วไป แต่เป็นเกมที่มีที่มาที่ไปจากปัญหาที่น้องๆ แต่ละทีมมองเห็นหรือสัมผัสจริง ซึ่งมีเกมที่ชวนให้ฉุกคิดเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม เกมที่สะท้อนชีวิตในโรงเรียน เกมที่ให้ความรู้และพัฒนาทักษะด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน และเกมที่นำเสนอประเด็นวิถีพลเมือง เกมบางเกมน่าสนใจจนอยากชวนมาลองเล่นในงาน Games & Learn Festival เช่น บอร์ดเกมที่พูดถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ หรือบอร์ดเกมที่พูดถึงปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน หรือโลกออนไลน์ เป็นต้น เมื่อนำเรื่องเหล่านี้มาสื่อสารผ่านบอร์ดเกมแล้วทำให้การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในเรื่องอ่อนไหวเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมชาติในกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย ประเด็นท้องวัยใส สะท้อนออกมาผ่านมุมมองของ ภควดี พานิล ตัวแทนเยาวชนจากโครงการออกแบบเกมออกแบบสังคม กล่าวว่า
"เคยอ่านการ์ตูนในเว็บไซต์ซึ่งมีตัวละครเด็กสาวท้องก่อนวัย แต่พอเราไล่อ่านคอมเมนต์ข้างล่างก็เห็นมีคนมาแสดงความคิดเห็นในเชิงชื่นชมการท้องก่อนวัยของตัวละครนั้น เราก็เอะใจว่าทำไมวัยรุ่นเดี๋ยวนี้คิดแบบนั้น มันก็เลยเป็นส่วนหนึ่งของที่มาในการพัฒนาบอร์ดเกมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการท้องก่อนวัยอันควรจากพวกเรา"
อย่างไรก็การสร้างบอร์ดเกมแต่ละเกม ไม่ได้มีเพียงประเด็นปัญหาและการทำออกมาเป็นเกมเท่านั้น แต่ยังต้องมีการออกแบบการใช้ภาพและกลไกเกมต่างๆ และเทคนิคการนำเกม ช่วยสนับสนุนให้ผู้เล่นเข้าใจเนื้อหาและมีอารมณ์ร่วมกับการเล่นเกมยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการฯ ให้ความรู้และช่วยเหลือในเรื่องกราฟิก เพื่อให้เกมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ทั้งนี้โครงการออกแบบเกมออกแบบสังคมเห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่ายผู้ที่สนใจในการพัฒนาเกมการเรียนรู้ และเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมในมิติใหม่ จึงจัดให้มีงานมหกรรมเกมและการเรียนรู้ (Games & Learn Festival) ขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 ตุลาคม 2561 นี้ ณ อาคารสิริวิทยลักษณ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้น้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 20 ทีม นำบอร์ดเกม ที่พัฒนาขึ้นมาทดลองและเผยแพร่เกมสู่สาธารณะเป็นครั้งแรก นอกจากนั้นภายในงานยังมีการจัดเวทีเสวนา และ อบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับเกมเพื่อการเรียนรู้อีกมากมาย อาทิ Workshop: สังคมมันส์ดี ห้องเ(ก)รียนนี้มีเกม โดยทีมวิทยากรกลุ่มพลเรียน Workshop: Classroom Game Design เปลี่ยนห้องเรียนเป็นห้องเล่น(จนได้เรื่อง) โดยทีมวิทยากรจาก Club Creative, Workshop: การออกแบบเกมเพื่อมวลชน โดยทีมวิทยากร Deschooling Game by เถื่อนเกม และ Workshop: การออกแบบบอร์ดเกมเพื่อสื่อสารประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะ โดยทีมวิทยากรเล่นเอาเรื่อง(ศึกษา) เป็นต้น ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: tu.banpu ลงทะเบียนเข้าร่วมงานที่ https://goo.gl/pHYADZ