กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาสาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.ศิริพร ลาภเกียรติถาวร ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ วว. และทีมนักวิจัย นำผลงานวิจัยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพาราด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์สำหรับผลิตจำหน่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ เนื่องในโอกาสสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แถลงข่าวการจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2561 (Thailand Research Expo 2018) วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ทั้งนี้มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2561 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-13 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์ โดย วว. จะนำผลงานวิจัยเข้าร่วมจัดจัดแสดงนิทรรศการ พร้อมการบรรยายพิเศษ เพื่อเผยแพร่ผลงานที่เป็นประโยชน์สู่สาธารณชนต่อไป ดังนี้
แปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา แบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 3 กลุ่มคือ
1.1 ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
ที่นอนและหมอนยางพาราเพื่อการสุคนธบำบัด ที่นอนและหมอนยางพาราเพื่อการสุคนธบำบัด ใช้เทคโนโลยีด้านนวัตกรรมวัสดุร่วมกับการใช้กลิ่นที่สกัดจากพืชชนิดต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้นอนหลับง่าย ปรับอารมณ์ให้สมดุลและสงบ ช่วยผ่อนคลาย อาทิเช่น กลิ่นหญ้าแฝก กลิ่นมะลิ เป็นต้น ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราได้ 3-5 เท่า
แผ่นกันลื่นจากยางพาราสำหรับพรมอเนกประสงค์ ใช้เทคโนโลยีเคลือบยางบนผ้าเพื่อผลิตแผ่นกันลื่น ซึ่งช่วยให้แผ่นพรมอเนกประสงค์สามารถยึดเกาะกับพื้นได้ดี ไม่ก่อให้เกิดการลื่นล้มได้ง่าย ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราได้มากกว่า 10 เท่า ช่วยลดการนำเข้าแผ่นกันลื่นจากต่างประเทศและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันทางธุรกิจได้ดีอีกด้วย
เครื่องขึ้นรูปแผ่นเสริมรองเท้าเพื่อสุขภาพ สำหรับใช้พิมพ์รูปเท้าเฉพาะของแต่ละบุคคล โดยนำน้ำยางพารามาพัฒนาเป็นถุงแบบพิมพ์รอยเท้า เพื่อใช้ในการทำแผ่นเสริมรองเท้าให้เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีลักษณะเท้าไม่เข้ากับมาตรฐานหรือกลุ่มลูกค้าที่ต้องการดูแลสุขภาพและเล่นกีฬา ช่วยส่งเสริมให้เกิดมูลค่าของน้ำยางพาราได้ถึง 10 เท่า มีต้นทุนการผลิตเครื่องถูกกว่าท้องตลาด 75% ทดแทนการนำเข้าที่มีราคาหลายแสนบาท
แผ่นยางปูพื้น ผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติเป็นไปตาม มอก.2377-2551 ช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์แผ่นยางปูพื้น ปัจจุบันนำผลิตภัณฑ์ไปใช้งานจริงที่โรงพยาบาลวังจันทร์ จ.ระยอง เพื่อใช้ฝึกกายภาพสำหรับหัดเดินของผู้ป่วยและพัฒนาการเด็ก ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราได้ 4 เท่า
1.2 ผลิตภัณฑ์เพื่อเกษตรกรรม
ถุงมือผ้าเคลือบยาง น้ำยางจะช่วยเพิ่มความทนทานให้แก่ถุงมือ ทำให้ถุงมือผ้าเคลือบยางมีคุณสมบัติป้องกันการบาดคม บาดเฉือน ลดแรงกระแทก กันลื่น นำไปใช้ในงานด้านเกษตรกรรม ประมง ก่อสร้างและอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราได้มากกว่า 10 เท่า และน้ำยาง 1 กิโลกรัมสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือผ้าเคลือบยางได้ถึง 30 คู่
ชุดวัสดุป้องกันการกัดเซาะตลิ่งจากธรรมชาติ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.ชั้นป้องกันการกัดเซาะจากบล็อกประสานรูปแบบใหม่ที่ปรับปรุงคุณสมบัติด้วยน้ำยางพารา 2.ชั้นกรองจากผ้าเคลือบน้ำยางพารา สามารถส่งเสริมให้เกิดการสะสมและสร้างชั้นตะกอนดินบนแผ่นวัสดุ ซึ่งพืชสามารถเจริญเติบโดโดยมีรากช่วยยึดโยงเสริมความแข็งแรงให้กับแนวตลิ่งได้ และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราได้ 2-3 เท่า
1.3 สิ่งประดิษฐ์/เครื่องจักร
เครื่องชุบเคลือบถุงมือผ้าด้วยยางพาราแบบกึ่งอัตโนมัติ การทำงานของเครื่องมีการเคลื่อนที่แบบวงกลมเป็นจังหวะ โดยจังหวะหยุดการเคลื่อนที่เป็นจังหวะที่ใช้ในการจุ่มสารเคลือบและขั้นตอนการจุ่มน้ำยาง ซึ่งใช้ระยะเวลา 15-20 วินาทีต่อคู่ มีกำลังการผลิต 300 คู่/8 ชั่วโมง
การถ่ายทอดเทคโนโลยี เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน/OTOP และผู้ประกอบการ SME มากกว่า 5 เรื่อง จำนวนเกษตรกร/ผู้ประกอบการได้รับการอบรมมากกว่า 500 คน ทำให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่มากกว่า 10 รายครอบคลุมทุกภาคในประเทศ
3. ผลกระทบที่ได้รับ
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ - สร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์
- ช่วยแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ
- ลดการนำเข้าของผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ
ผลกระทบทางสังคม ช่วยให้ชาวสวนยางพาราและคนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ผลกระทบด้านเกษตรกรรม สร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรจากการขายยางพารา
ผลกระทบด้านอุตสาหรรม เกิดผู้ประกอบการใหม่ เช่น ถุงมือผ้าเคลือบยาง หมอนเพื่อการสุคนธบำบัด และแผ่นเสริมรองเท้าเพื่อสุขภาพ