อาการขาดฮอร์โมนในร่างกาย

ข่าวทั่วไป Wednesday August 1, 2018 14:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--ไลฟ์เซ็นเตอร์ ฮอร์โมนมีความสำคัญต่อร่างกาย เหมือนต้นไม้ที่ต้องการปุ๋ยฉันใด ร่างกายเราก็ต้องการฮอร์โมนฉันนั้น ฮอร์โมนที่เรารู้จักส่วนใหญ่ก็จะเป็นฮอร์โมนเพศหญิง เพศชาย ที่แสดงให้รู้ว่าเป็นหญิงหรือชาย โกรทฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต และยังมีอีกหลายฮอร์โมนที่มีความสำคัญที่ช่วยทำให้ร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ แต่ฮอร์โมนเหล่านี้ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด เมื่ออายุมากขึ้น ฮอร์โมนเหล่านี้ก็จะลดลง ร่างกายเราก็จะเริ่มเสื่อม และแสดงอาการออกมาว่าตอนนี้ร่างกายเรากำลังขาดหรือมีฮอร์โมนน้อยลง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าร่างกายเริ่มขาดฮอร์โมนชนิดใด และมีอาการอย่างไร พญ.น้ำทิพย์ พันธ์ทิพทวี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านชะลอวัย จาก AddLife Anti-Aging Center ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้ให้ความหมายของฮอร์โมนว่า ฮอร์โมน เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสารและทำหน้าที่ร่วมกับอวัยะต่างๆ ในร่างกาย โดยฮอร์โมนจะหลั่งออกมาจากต่อมไร้ท่อและซึมเข้าสู่เส้นเลือด จากนั้นจะอาศัยระบบการไหลเวียนของกระแสเลือด ส่งต่อไปยังเซลล์หรืออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติ ฮอร์โมนเป็นสารเคมีที่มีประสิทธิภาพสูง แค่ปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็สามารถสร้างผลกระทบให้กับร่างกายได้เป็นอย่างมากเลยทีเดียว ฮอร์โมนจึงมีความสำคัญและจำเป็นต่อมนุษย์ สัตว์ และพืช ที่จะช่วยในการดำรงชีวิต ฮอร์โมนพื้นฐานที่ควรทำความรู้จัก และเมื่อขาดฮอร์โมนชนิดนี้จะมีอาการอย่างไร โกรทฮอร์โมน มีส่วนสำคัญในการสร้างและพัฒนาเซลล์ให้มีการเจริญเติบโต เราจะได้ยินเรื่องโกรทฮอร์โมนมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก เป็นฮอร์โมนที่ช่วยเร่งความสูง สำหรับผู้ใหญ่จะมีความสำคัญเรื่องชะลอความชรา ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ระบบกล้ามเนื้อและการเผาผลาญ เมื่อขาดฮอร์โมนนี้ ในเด็กจะทำให้เด็กไม่สูง กล้ามเนื้อไม่เจริญเติบโต ผู้ใหญ่จะมีผิวเหี่ยวย่น ผมบาง ภูมิคุ้มกันแย่ลง ไม่กระฉับกระเฉง กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ฮอร์โมนเพศหญิง จะมีรังไข่ผลิตฮอร์โมนเอสโทรเจน ซึ่งช่วยควบคุมภาวะการเจริญพันธุ์ และควบคุมลักษณะต่างๆ ของเพศหญิง เช่น การมีเต้านม ผิวพรรณเปล่งปลั่ง เป็นฮอร์โมนของความสาว และในรังไข่ยังผลิตฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน หรือฮอร์โมนสำหรับการตั้งครรภ์ ไว้คอยทำหน้าที่ควบคุมรอบเดือน ให้เป็นปกติ รวมไปถึงควบคุมภาวะตั้งครรภ์ ในวัยเจริญพันธุ์หากฮอร์โมนเพศหญิงไม่สมดุล จะทำให้เกิดอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) เช่น สิวขึ้น ท้องอืด อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้าง่าย และอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก สำหรับหญิงวัยทอง ฮอร์โมนเพศหญิงจะต่ำลงมาก ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออก ความจำแย่ อารมณ์ฉุนเฉียว กระดูกบาง ผิวเหี่ยว ฮอร์โมนเพศชาย คือ เทสโทสเทอโรน จะช่วยกระตุ้นลักษณะเฉพาะของเพศชาย เช่น หนวดเครา เสียงทุ้ม กระตุ้นการผลิตไขมันที่ผิวหนัง ช่วยเพิ่มมวลกระดูก เมื่อขาดฮอร์โมนนี้จะทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง ความแข็งแรงกล้ามเนื้อลดลง การตัดสินใจช้าลง ฮอร์โมนไทรอยด์ หรือต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย อุณหภูมิของร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ระดับไขมันในเลือด รวมทั้งอารมณ์และความรู้สึก เมื่อขาดฮอร์โมนตัวนี้จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม ท้องผูกบ่อย รู้สึกอ่อนเพลียง่าย ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต จะผลิตดีเอชอีเอ และคอร์ติซอล ดีเอชอีเอเป็นฮอร์โมนต้านความเครียดมีฤทธิ์ในการเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย กระตุ้นความรู้สึกทางเพศและชะลอความเสื่อมของร่างกาย ส่วนฮอร์โมนคอร์ติซอลเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้นมาต่อสู้กับความเครียดโดยเฉพาะ ซึ่งปกติแล้วร่างกายจะผลิตฮอร์โมนตัวนี้เยอะมากในตอนเช้า เพื่อสร้างพลังงานให้กับร่างกาย และยังมีหน้าที่กระตุ้นความดันโลหิตให้สูงขึ้น ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถฝ่าฟันเรื่องต่าง ๆ ระหว่างวันได้ แต่ฮอร์โมนนี้จะถูกลดลงเหลือเพียง 10% เท่านั้นในช่วงเย็น เมื่อร่างกายเกิดความเครียดสะสมหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ระดับฮอร์โมนดีเอชอีเอและฮอร์โมนคอร์ติคอร์ติซอลจะต่ำลง ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ง่วงนอน ขาดความกระตือรือร้น เกิดอาการอ่อนเพลียตลอดทั้งวัน ซึมเศร้า การเผาผลาญในร่างกายลดลง ภูมิต้านทานลดลง ฮอร์โมนเมลาโทนิน จะส่งผลต่อการนอนหลับ ทำให้ร่างกายผ่อนคลาย ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายทำให้ร่างกายสามารถนอนหลับได้ดี โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในความมืดฮอร์โมนนี้จะกระตุ้นออกมาได้ดี เมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนตัวนี้จะทำให้นอนหลับยาก นอนหลับไม่ดี หลับไม่ลึก ตื่นไม่สดชื่น นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมน เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น ต่อมใต้สมองจะหลั่งฮอร์โมนต่างๆเมื่อแรกเกิด และจะเริ่มลดปริมาณลงถึง 40% ในช่วงอายุ 30 ปีเป็นต้นไป และในทุกๆ 10ปีก็จะลดลงอีก 14% ความผิดปกติทางพันธุกรรม การสัมผัสสารพิษจากสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การรบกวนระบบวงจรปกติของร่างกาย เช่น อาชีพที่ต้องทำงานเป็นกะทำให้นอนไม่เป็นเวลา การเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ ความเครียด สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนบางชนิดในปริมาณที่ไม่เหมาะสม วิธีดูแลร่างกายให้ฮอร์โมนอยู่ในระดับสมดุล เช่น การนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 7-8 ชม. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารหวานและรสจัด ออกกำลังกายในปริมาณที่เหมาะสม 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือในกรณีที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนได้มากหรือน้อยเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรง ตามมาได้ แพทย์อาจสั่งยาฮอร์โมน หรือยาชนิดอื่นๆ ให้รับประทาน เพื่อช่วยจัดการภาวะขาดสมดุลของฮอร์โมนเหล่านี้ และปรับระดับฮอร์โมนในร่างกายให้เข้าสู่ภาวะปกติ
แท็ก ต้นไม้  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ