หัวเว่ยมอบรางวัลพิเศษแก่ ดร. เออร์ดัล อาริกาน บิดาแห่งรหัสโพลาร์ ตอกย้ำความทุ่มเทด้านการวิจัยพื้นฐานและการสำรวจ

ข่าวเทคโนโลยี Thursday August 2, 2018 11:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--แฟรนคอม เอเชีย หัวเว่ยมอบรางวัลพิเศษแก่ศาสตราจารย์ ดร. เออร์ดัล อาริกาน (Prof. Dr. Erdal Arikan) ชาวตุรกี ผู้คิดค้นรหัสโพลาร์ (Polar Codes) สำหรับเทคโนโลยี 5G เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูผลงานอันโดดเด่นด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารของศาสตราจารย์ โดยพิธีมอบรางวัลดังกล่าวจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของหัวเว่ยในเมืองเซินเจิ้น พร้อมกับการมอบรางวัลให้แก่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่ทำงานเกี่ยวกับมาตรฐานและการวิจัยขั้นพื้นฐานของหัวเว่ยอีกกว่า 100 คน การวิจัยขั้นพื้นฐานถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม ส่วนการค้นพบทางทฤษฎีซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากการทุ่มเทความพยายามทางวิทยาศาสตร์เป็นเวลาหลายสิบปีนั้นจะช่วยกำหนดทิศทางของความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ในช่วงที่เทคโนโลยี 5G เริ่มพัฒนา รายงานเรื่อง Polar Codes ที่ศาสตราจารย์อาริกานได้ตีพิมพ์ขึ้นในปี พ. ศ. 2551 ได้กำหนดแนวคิดใหม่ทั้งหมดเพื่อเพิ่มอัตราและความเชื่อถือได้ของการรับส่งข้อมูล Polar Codes เป็นการเข้ารหัสสัญญาณแรกของโลก ที่นำเราก้าวไปไกลกว่าขีดจำกัดทางทฤษฎีของแชนนอน (Shannon Limit) ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่สามารถส่งข้อมูลได้โดยไม่มีข้อผิดพลาดที่แบนด์วิธใดแบนด์วิธหนึ่ง การเข้ารหัสแบบ Polar codes ทำให้ประสิทธิภาพการเข้ารหัสสำหรับ 5G ดีขึ้นเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังลดความซับซ้อนของการออกแบบและสร้างความมั่นใจในคุณภาพการบริการด้วย ในปี พ.ศ. 2560 3GPP (หน่วยงานมาตรฐานระหว่างประเทศที่รับผิดชอบด้านมาตรฐาน 5G) ได้ใช้ Polar Codes เป็นรูปแบบการเข้ารหัสอย่างเป็นทางการสำหรับช่องทางการควบคุมของอินเทอร์เฟซ 5G NR eMBB ในพิธีมอบรางวัล มร. เหริน เจิ้งเฟย ของหัวเว่ยได้มอบเหรียญรางวัลแก่ศาสตราจารย์อาริกาน โดยเหรียญนี้ได้รับการออกแบบและผลิตโดยมอนเนย์ เดอ ปารีส์ หรือโรงกษาปณ์ปารีส (Monnaie de Paris - Paris Mint) แกะเป็นรูปเทพธิดาแห่งชัยชนะด้วยคริสตัลสีแดงจากโรงผลิตคริสตัลบัคคาราต์ สื่อความหมายถึงความสำคัญของเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ ๆ ในการนำพาโลกให้ก้าวไปข้างหน้า หลังรับเหรียญรางวัล ศาสตราจารย์อาริกานได้กล่าวขอบคุณสำหรับรางวัลดังกล่าว "ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเหรียญรางวัลในวันนี้ และทำให้ผมรู้สึกปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รู้ว่า หากไม่มีวิสัยทัศน์และการมีส่วนร่วมทางเทคนิคจากผู้อำนวยการและวิศวกรของหัวเว่ย Polar Codes อาจจะไม่ได้มีการพัฒนาต่อยอดจากห้องแล็บจนกลายมาเป็นมาตรฐานสำคัญภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี และเช่นเดียวกับวิศวกรทั้งหลาย ย่อมไม่มีรางวัลใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการได้เห็นความคิดของเรากลายเป็นจริง" มร. อีริค ซวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย กล่าวในงานพิธีมอบรางวัลว่า "มาตรฐาน 5G เป็นผลมาจากความพยายามทั่วโลกในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าในการวิจัยขั้นพื้นฐานและเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรหลายหมื่นคน รวมถึงบริษัทอีกหลายสิบแห่งทั่วโลกต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปีในการทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างมาตรฐานเหล่านี้ขึ้นมา เราอยากจะแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจต่อศาสตราจารย์อาริกาน ตลอดจนนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และพนักงานของหัวเว่ยที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G" ในปี พ.ศ. 2553 หัวเว่ยได้ตระหนักถึงศักยภาพของ Polar Codes เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยีการเข้ารหัสช่องสัญญาณ ดังนั้น บริษัทจึงได้ลงทุนวิจัยเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาต่อยอดผลงานของศาสตราจารย์อาริกาน ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้ค้นพบนวัตกรรมมากมายทางด้านเทคโนโลยีหลักของ Polar Codes ซึ่งช่วยให้ Polar Codes สามารถก้าวไปได้ไกลกว่าขอบเขตของงานวิจัยทางวิชาการและเริ่มมองเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา "การเกิดมาตรฐาน 5G เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งใหม่เท่านั้น" มร. ซวี กล่าวเสริม "เราจะพยายามอย่างหนักเพื่อให้แน่ใจว่า เทคโนโลยี 5G ซึ่งรวมถึง Polar codes จะสร้างคุณค่าให้แก่สังคมได้มากขึ้นและเร็วขึ้น ในขณะเดียวกัน เราก็หวังว่า การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างบริษัทต่างๆ กับสถาบันการศึกษา อย่างเช่น การทำงานระหว่างหัวเว่ยและศาสตราจารย์อาริกานจะยังคงดำเนินต่อไป และก่อให้เกิดความมหัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์ ที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม ICT และสังคมโดยรวม" ในพิธีมอบรางวัล หัวเว่ยยังได้เชิดชูเกียรตินักวิทยาศาสตร์ของบริษัทอีกกว่า 100 คน ที่ทำงานด้านการวิจัยพื้นฐานและการกำหนดมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสบความสำเร็จทางด้านการวิจัยเกี่ยวกับ 5G New Radio และนวัตกรรมใหม่ๆ อีก 8 ด้าน อาทิ รูปแบบของสัญญาณใหม่ และการเข้ารหัสใหม่ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัทพันธมิตรในอุตสาหกรรม เพื่อตรวจเช็คทดสอบเทคโนโลยีที่สำคัญ และผลักดันกระบวนการสร้างมาตรฐาน ซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมสำคัญในมาตรฐานเทคโนโลยี 5G ลำดับที่ 15 ของ 3GPP และด้วยการทำงานบุกเบิกร่วมกัน หัวเว่ยจึงเป็นบริษัทรายแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จในการทดสอบ 5G ในทุกขั้นตอนของการพัฒนาระบบ IMT-2020 (แนวคิดที่ได้รับการเห็นชอบร่วมกันเพื่อพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารเคลื่อนที่ภายในปี พ. ศ. 2563 กำหนดโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ) ซึ่งมีประสิทธิภาพที่เหนือกว่า โดยเทียบกับตัวบ่งชี้ที่สำคัญสำหรับการใช้งาน 5G ใน 3 สถานการณ์ ซึ่งกำหนดโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ โดยตัวบ่งชี้ทั้งสามนั้น ประกอบด้วยความเร็วในการเชื่อมต่อแบบไร้สาย (Enhanced Mobile Broadband (eMBB)) การสื่อสารที่มีความน่าเชื่อถือระดับอัลตร้าและมีความหน่วงในการรับส่งข้อมูลที่ต่ำมาก (Ultra-Reliable และ Low-Latency (URLLC)) และความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมากพร้อมกันโดยใช้พลังงานต่ำ (Massive Machine Type Communications - mMTC) ที่มีประสิทธิภาพสูง ในฐานะผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐาน 5G รายใหญ่และเป็นผู้ถือสิทธิบัตรรายหลัก หัวเว่ยมีความมุ่งมั่นที่จะใช้สิทธิบัตรตามหลักการ FRAND คือ เป็นธรรม สมเหตุสมผล และไม่เลือกปฏิบัติ (Fair, Reasonable and Non-Discriminatory) ซึ่งเป็นหลักการที่บริษัทยึดมั่นปฏิบัติมาในอดีตและจะยังคงยึดมั่นในการก้าวต่อไปข้างหน้า เพื่อสร้างระบบนิเวศ 5G ที่มีประสิทธิภาพร่วมกับผู้เล่นรายอื่น ๆ การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างจริงจังเป็นสิ่งที่หัวเว่ยให้ความสำคัญมาตลอดระยะเวลาหลายปี โดยได้มีการลงทุนในด้านนี้ไปแล้วเกือบ 400,000 ล้านหยวน หรือกว่า 2 ล้านล้านบาทในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในอนาคตข้างหน้า หัวเว่ยจะเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยขั้นพื้นฐาน โดยได้จัดสรรงบราวร้อยละ 20 ถึง 30 ของงบประมาณด้าน R&D ตลอดปี หรือราว 15,000 -20,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 500,000 – 700,000 ล้านบาท เพื่อการวิจัยขั้นพื้นฐานเพียงอย่างเดียว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ