กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--ไอดีซี ประเทศไทย
ไอดีซีประเทศไทย ประกาศให้โครงการเมืองอัจฉริยะของจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดภูเก็ตเป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโครงการเมืองอัจฉริยะยอดเยี่ยมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นญี่ปุ่น) ในการประกาศรางวัล IDC Smart City Asia Pacific (SCAPA) ประจำปี 2561 โดยโครงการ "ขอนแก่นสมาร์ทเฮลธ์" ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการด้านสาธารณสุขและการบริการสังคมดีเด่น และโครงการ "ภูเก็ตสมาร์ททัวริซึม" ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการด้านการท่องเที่ยว ศิลปะ วัฒนธรรม หอสมุด และพื้นที่สาธารณะดีเด่น
โครงการของจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดภูเก็ต เป็นหนึ่งใน 19 โครงการที่ได้รับรางวัล จาก 148 โครงการที่สมัครเข้ารับการคัดเลือก โดยทั้ง 2 จังหวัดร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ในการใช้เทคโนโลยี (เช่น คลาวด์ อนาไลติกส์ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ โมบิลิตี้) และดาต้า เพื่อสร้างนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้พัฒนาจังหวัดและความเป็นอยู่ของประชาชน ผ่านการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมในด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม
ขอนแก่นสมาร์ทเฮลธ์ เป็นโครงการริเริ่มที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมมือกับจังหวัด ผู้ให้บริการสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยในจังหวัดขอนแก่น โดยโครงการประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่ (1) รถพยาบาลอัจฉริยะ (smart ambulance) ที่ใช้เทคโนโลยีการประชุมทางไกล (teleconference) อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) และเทคโนโลยีโรโบติกส์ (robotics) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน และช่วยให้แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยเบื้องต้น หรือเริ่มกระบวนรักษาฉุกเฉินได้ก่อนที่ผู้ป่วยจะมาถึงที่โรงพยาบาล (2) บริการด้านสุขภาพเชิงป้องกันที่ใช้ประโยชน์จากสายรัดข้อมืออัจฉริยะ (smart wristband) และระบบบ้านอัจฉริยะ (smart home) เพื่อตรวจสอบ จัดเก็บข้อมูลด้านสุขภาพ และให้คำแนะนำด้านสุขภาพกับประชาชน (3) อยู่ในระหว่างการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) และการวิเคราะห์บิ๊กดาต้า (big data analytics) เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการแบ่งปันข้อมูลทางการแพทย์ที่บุคลากรด้านสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถเข้าถึงได้
ภูเก็ตสมาร์ททัวริซึม เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด (PKCD) และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและปลอดภัย ซึ่งโครงการนี้ มี 5 องค์ประกอบ ได้แก่ (1) สมาร์ททัวริซึม ผ่านการให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงฟรีทั่วเมืองภูเก็ต การพัฒนาแอปพลิเคชัน Phuket Smart City และบริการสายรัดข้อมืออัจฉริยะเพื่อความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว (2) ความปลอดภัยสาธารณะ ผ่านการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์รูปแบบต่าง ๆ เช่น ตรวจจับป้ายทะเบียน การจดจำใบหน้า และระบบติดตามเรือ (3) ระบบจัดการน้ำเสียที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (4) สมาร์ท กัฟเวิร์นเมนต์ ผ่านการสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลของเมือง ที่มีการอัพเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ
คุณจาริตร์ สิทธุ ผู้บริหารประจำไอดีซีประเทศไทย เปิดเผยว่า "การพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะกำลังเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะคือการสร้างความร่วมมือกันในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับหน่วยงานภาครัฐไปจนถึงระดับประชาชน สำหรับในประเทศไทยนั้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและหน่วยงานระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้องกำลังแสดงให้เราเห็นถึงศักยภาพของเมืองอัจฉริยะ ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ในการสร้างเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น เราเชื่อว่าความสำเร็จในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจะเป็นพื้นฐานของการสร้างระบบนิเวศที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เมืองใกล้เคียง เริ่มสร้างแผนในพัฒนาเมืองอัจฉริยะต่อไปในอนาคตได้"
โดยสำหรับรางวัลนี้นั้น IDC Government Insights ได้ทำการประเมินโดยให้เกณฑ์การประเมินที่ครอบคลุม ผ่าน 6 ขั้นตอนการประเมิน ตั้งแต่การคัดเลือกเบื้องต้น การประเมินเบื้องต้นโดยผู้เชี่ยวชาญจากไอดีซีทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิก (50%) การเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงคะแนนเสียง (25%) และประเมินโดยสภาที่ปรึกษาระหว่างประเทศ (25%)
ไอดีซีจะเปิดเผยงานวิจัย IDC Government Insights Smart City Development Index for 2017-2018 ซึ่งรวมรวบข้อมูลเชิงลึกและกรณีศึกษาของผู้ชนะทั้ง 19 โครงการใน SCAPA 2018 และผู้ชนะในช่วง 3 ปีหลัง ในช่วงปลายปีนี้ สำหรับสื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณอคาส ทิวารี atiwari@idc.com หรือ +66 82450 2405
เกี่ยวกับ IDC Government Insights
IDC Government Insights ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเป็นการเฉพาะสำหรับผู้วางนโยบายของรัฐฯ, ผู้บริหารโครงการสาธารณะประโยชน์, และผู้นำในเทคโนโลยีไอที ตลอดจนซัพพลายเออร์ที่สนับสนุนสินค้าหรือบริการให้กับภาคธุรกิจนี้ สำหรับการตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากงานวิจัยและบริการให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง ถูกช่วงเวลา และมีรายละเอียดเชิงลึก ด้วยทีมงานนักวิเคราะห์อาวุโสที่มีประสบการณ์ในภาคธุรกิจการให้บริการของภาครัฐฯ และอุตสาหกรรมไอที มากกว่าทศวรรษ งานวิจัยและบริการให้คำปรึกษาทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจและเทคโนโลยีที่ประสบปัญหาอยู่ สำหรับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานส่วนกลาง/ส่วนภูมิภาค หรือเป็นหน่วยงานระดับจังหวัดหรืออำเภอ International Data Corporation หรือ ไอดีซี เป็นบริษัทชั้นนำในการให้บริการข้อมูลวิจัย บริการให้คำปรึกษา และการจัดงานสัมมนา ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ไอดีซี เป็นบริษัทในเครือของ IDG ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลกในการบริการข้อมูลด้านเทคโนโลยี, สื่อสิ่งพิมพ์, การวิจัยตลาด, และการจัดงานสัมมนา หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ท่านสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่ www.idc-gi.com, อีเมล์ที่ info@idc-gi.com หรือ ติดต่อได้ที่ 571-296-8060 ท่านสามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลชุมชนของ IDC Government Insights Community ได้ที่ https://idc-community.com/government.
เกี่ยวกับไอดีซี
ไอดีซี บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยข้อมูลการตลาดชั้นนำระดับโลก ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม และ คอนซูมเมอร์เทคโนโลยี โดยนำเสนอข้อมูลจากการวิเคราะห์เจาะลึก ให้แก่ผู้เชี่ยวชาญด้าน ไอที ผู้บริหาร และ นักลงทุน ให้สามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจจัดซื้อเทคโนโลยีและกำหนดกลยุทธ์ ทางธุรกิจ ปัจจุบัน ไอดีซี มีนักวิเคราะห์มากกว่า 1,100 คน ทำหน้าที่นำเสนอข้อมูล และให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์อย่างรอบด้านแก่ลูกค้าในเรื่องเทคโนโลยี รวมถึงโอกาสทางธุรกิจ และแนวโน้มของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และ ในแต่ละประเทศ มากกว่า 110 ประเทศทั่วโลก ไอดีซีได้ให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์เพื่อช่วยให้ลูกค้าบรรลุทุกวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ ไอดีซีก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2507 เป็นบริษัทในเครือของ IDG ซึ่งดำเนินธุรกิจสื่อสารเทคโนโลยีวิจัย และจัดงานสัมมนาชั้นนำระดับโลก ค้นหาข้อมูล เพิ่มเติมได้ที่ www.idc.com. และติดตาม Twitter: @IDC