กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--ธนาคารเอชเอสบีซี
*ร้อยละ 77 ของบริษัทในสิงคโปร์ระบุมีแผนจะขยายธุรกิจในต่างประเทศ
**ไทยติดอันดับ 4 ตลาดแรกที่บริษัทในสิงคโปร์จะเข้าลงทุน
ผลการวิจัยของธนาคารเอชเอสบีซี ชี้ว่าการลงทุนโดยรวมในอาเซียนจนถึงปี 2563 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากบรรดาบริษัทที่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ โดยประเทศไทยจะได้รับอานิสงส์หลักจากตลาดผู้บริโภคที่กำลังเติบโตและบรรยากาศการลงทุนโดยรวมที่ส่งเสริมแผนการขยายธุรกิจ
ผลวิจัยของเอชเอสบีซีที่จัดทำโดย Singapore Business Federation ได้รวบรวมความคิดเห็นของบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์จำนวน 1,036 แห่งที่สนใจจะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยพบว่าร้อยละ 86 จากทั้งหมดที่ทำการสำรวจเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งมีรายได้รวมต่อปีมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือมีจำนวนพนักงานต่ำกว่า 200 คน
ประเทศไทยเป็นจุดหมายการลงทุนที่น่าสนใจอย่างเห็นได้ชัดสำหรับบริษัทที่อยู่ในสิงคโปร์ซึ่งมุ่งเน้นการทำธุรกิจระหว่างประเทศและคาดหวังที่จะขยายธุรกิจ
ในบรรดาบริษัททั้งหมดที่ร่วมการสำรวจ พบว่า ร้อยละ 80 ระบุว่าบริษัทดำเนินกิจการในประเทศไทยอยู่แล้ว (ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงสุด รองจากมาเลเซียที่ร้อยละ 87 และอินโดนีเซียที่ร้อยละ 81) และร้อยละ 29 เลือกที่จะขยายธุรกิจมายังประเทศไทยภายในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า (รองลงมาจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม)
กิจกรรมการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากสิงคโปร์เป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทย ด้วยเหตุที่ว่าสิงคโปร์เป็นแหล่งที่มาของการลงทุนที่ใหญ่สุดของไทยอยู่แล้ว (เป็นรองเพียงแค่จีนและญี่ปุ่นเท่านั้น) ทั้งนี้ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในปี 2560 สิงคโปร์ลงทุนในไทยมูลค่า 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับญี่ปุ่นอยู่ที่ 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีนที่ 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
การลงทุนจากสิงคโปร์ที่เข้ามายังประเทศไทยนั้น หมายรวมถึงบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นในสาธารณรัฐสิงคโปร์ ตลอดจนบริษัทระหว่างประเทศอีกหลายแห่ง โดยในบรรดาบริษัทระหว่างประเทศจำนวน 37,400 แห่งในสิงคโปร์ เป็นบริษัทข้ามชาติจำนวน 7,000 แห่ง และร้อยละ 60 มีภาระหน้าที่รับผิดชอบในระดับภูมิภาค
ผู้บริโภคและความง่ายในการทำธุรกิจเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศไทย
ตลาดผู้บริโภคที่กำลังเติบโตและบรรยากาศการลงทุนโดยรวมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการลงทุนที่เข้ามายังประเทศไทยในอนาคต ผลสำรวจ พบว่า ร้อยละ 83 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ขยายธุรกิจในประเทศไทย ระบุว่าเป็นเพราะความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต ร้อยละ 79 อ้างถึงบรรยากาศการลงทุนโดยรวม และร้อยละ 74 บ่งชี้ถึงความง่ายในการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
นายกฤษฎา แพทย์เจริญ ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า "ในขณะที่บริษัทในสิงคโปร์เล็งเห็นถึงการเติบโตของฐานผู้บริโภคในประเทศไทย ผลวิจัยก็สะท้อนว่าองค์กรธุรกิจหลายแห่งกำลังเพิ่มความพยายามที่จะได้ประโยชน์จากการปันผลทางประชากร (demographic dividend)"
"นอกจากด้านผู้บริโภค ภาคการผลิตของไทยถึงแม้ว่าจะแข็งแกร่งอยู่แล้ว ขณะนี้กำลังเดินหน้าไปสู่กระบวนการผลิตขั้นสูง ดังนั้น ขณะที่บริษัทหลายแห่งอาจจะมีศูนย์การบริหารเงินหรือฝ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานอื่น ๆ (back-office function) ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ แต่ยังพบว่าการปฏิบัติการเกี่ยวกับธุรกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้อีกจำนวนมากกำลังถูกผลักดันให้เกิดขึ้นนอกประเทศไทย ซึ่งคาดว่าแนวโน้มเช่นนี้จะเพิ่มมากขึ้นหากห่วงโซ่คุณค่าและห่วงโซ่อุปทานของไทยขยายเป็นวงกว้างขึ้น"
แม้จะมีจุดเด่นที่น่าสนใจ แต่การเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยยังคงมีอุปสรรคบางประการ
ถึงแม้ว่าบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจจะมีความสนใจอย่างยิ่งที่จะขยายธุรกิจในอาเซียน แต่ก็ยังแสดงความกังวลต่อการเผชิญอุปสรรคบางประการในการเข้าร่วมลงทุนในภูมิภาคนี้ อันได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่แน่นอนในอาเซียน การขาดความรู้เกี่ยวกับโอกาสทางการตลาดและความต้องการของลูกค้า และความยุ่งยากของการได้รับใบอนุญาตทำงานหรือใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในการขยายธุรกิจเข้าสู่อาเซียน
และถึงแม้บรรยากาศการลงทุนโดยรวมที่มีต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอาเซียน (ASEAN regional economic integration) และการรับรู้ประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Agreements: FTAs) จะเป็นไปในเชิงบวก แต่การไม่อาจเข้าถึงข้อมูลและการไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับพันธกิจริเริ่มข้างต้นเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการที่บริษัทจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าว
โอกาสการเป็นพันธมิตรธุรกิจสำหรับบริษัทไทย
ธุรกิจเอสเอ็มอีในสิงคโปร์ที่กำลังเข้ามาลงทุนในประเทศไทยหรือกำลังขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์หรือกำลังมองหาความสัมพันธ์ทางธุรกิจในประเทศ ทั้งนี้ ผลวิจัยพบว่า กว่าร้อยละ 60 ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจมีตัวแทนจำหน่ายสินค้าอยู่แล้ว (distributor) หรือมีการจัดการในลักษณะกิจการร่วมลงทุน (Joint Venture arrangement)
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า "ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยบริษัทเหล่านี้กำลังมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจออกไปนอกประเทศตนเอง และสามารถได้ประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกมองว่าเป็นกิจกรรมทางธุรกิจที่ผูกขาดโดยบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่า"
"อย่างไรก็ตาม การเข้าลงทุนหรือการขยายธุรกิจในตลาดใดตลาดหนึ่งไม่ได้เป็นหนทางที่ราบรื่นง่ายดาย และมีโอกาสที่จะต้องเผชิญกับอุปสรรคระหว่างทางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจเอสเอ็มอีที่อาจจะไม่มีทรัพยากรที่จะรับมือกับความแตกต่างในแบบแผนทางวัฒนธรรมธุรกิจและการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างเต็มที่"
"การเอาชนะอุปสรรคและความซับซ้อนของการทำธุรกิจบ่อยครั้งที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเลือกพันธมิตรและที่ปรึกษาที่เหมาะสม จึงเป็นโอกาสอีกครั้งหนึ่งสำหรับบริษัทไทยในการร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจ"
"อย่างไรก็ตาม บริษัทไทยควรรีบหาช่องทางติดต่อกับธุรกิจเอสเอ็มอีในสิงคโปร์ ซึ่งกำลังเตรียมจะขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เริ่มแรกหรือก่อนหน้านั้น เพื่อคว้าโอกาสการลงทุนที่มีศักยภาพได้อย่างเต็มที่" เขากล่าวสรุป
อุตสาหกรรมเป็นภาคธุรกิจสำคัญสำหรับ SMEs ในอาเซียน
ผลวิจัย พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของ SMEs ที่ดำเนินธุรกิจในอาเซียนอยู่ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงการคมนาคมขนส่ง การก่อสร้าง ธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ และการผลิต