กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--อเกต คอมมิวนิเคชั่น
บริติช เคานซิล สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และ มหาวิทยาลัย Loughborough เปิดตัวนวัตกรรมเครื่องย่อยอาหารเป็นพลังงานไฟฟ้าควบคุมโดยอินเตอร์เนท ณ โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ โดยงานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร ผ่านทุนวิจัยนิวตัน (Newton Fund)
งานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทย นำโดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และสหราชอาณาจักร นำโดยมหาวิทยาลัย Loughborough ผ่านทุนวิจัยนิวตัน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานวัตกรรมเครื่องย่อยเศษอาหารเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับการใช้งานระดับชุมชน โดยขยะจากเศษอาหารนับเป็นสาเหตุต้นๆที่ก่อปัญหาด้านสภาพแวดล้อมของโลก ในแต่ละปีจะมีขยะจากเศษอาหารจากทั่วโลกมากถึง 1.6 พันล้านตัน ในประเทศไทยมีขยะจากเศษอาหารมากถึง 9.3 ล้านตันต่อปี ขยะจากเศษอาหารเหล่านี้ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 23 เท่า เครื่องย่อยขยะจากเศษอาหารนี้สามารถเปลี่ยนเศษอาหารเป็นพลังงานที่สามารถใช้ได้ในชุมชนและมีการควบคุมผ่านระบบออนไลน์ จากการทดสอบพบว่านวัตกรรมนี้สามารถนำเศษอาหารมาเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับหลอดไฟกว่า 1,000 ดวงได้ยาวนาน 12 ชม. นอกจากนี้เศษอาหารอื่นๆยังสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยได้ นวัตกรรมนี้ได้มีการทดลองใช้จริงที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) สามารถนำเศษอาหารจากโรงอาหารมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับสร้างก๊าสชีวภาพ ได้ถึง 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เทียบเท่ากับ ถ่าน 73 กิโลกรัม และสามารถควบคุมได้จากประเทศไทยและสหราชอาณาจักรผ่านระบบติดตามรวมศูนย์ โดยครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกนักวิจัยจากทั้งสองประเทศได้เปิดตัวนวัตกรรมนี้กับบริษัทและองค์กรพัฒนาเอกชนหลังจากได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนิวตันในปีพ.ศ. 2558
นางสาวชัญญา ทั้งสุข หัวหน้าฝ่ายอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า "การวิจัยและการคิดค้นนวัตกรรมนี้ไม่เพียงแต่เป็นการช่วยแก้ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญ แต่ยังช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ซึ่งเรายินดีที่ได้เห็นงานวิจัยที่เราสนับสนุนภายใต้โครงการนิวตันสามารถแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดจากการเศษอาหาร และสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงาน โดยใช้ความเชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักรและไทยเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ"
นายปรินันท์ วรรณสว่าง ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า "สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) มีความยินดีอย่างยิ่งในการสนับสนุนโครงการทุนนิวตัน ที่ช่วยสร้างพันธมิตรในการทำวิจัยร่วมกันระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย โดยงานวิจัยนี้ได้สร้างประโยชน์ต่อชุมชนในมุมกว้าง และก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน"
ข้อมูลเพิ่มเติม
เกี่ยวกับบริติช เคานซิล
บริติช เคานซิล คือองค์กรนานาชาติเพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักร เราสร้างสรรค์องค์ความรู้และความเข้าใจอันดีระหว่างผู้คนของสหราชอาณาจักรและประเทศอื่น ๆ โดยการสร้างประโยชน์ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศที่เราทำงานด้วย เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนให้ดีขึ้นโดยการสร้างโอกาส สร้างเครือข่าย และสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน
บริติช เคานซิล ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2477 ภายใต้พระบรมราชานุญาตและพระราชบัญญัติองค์การอิสระแห่ง สหราชอาณาจักร รายได้ส่วนใหญ่มาจากการดำเนินโครงการต่าง ๆ รวมถึงงานด้านการสอนภาษาอังกฤษ การจัดสอบ การพัฒนาการศึกษา และโครงการความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชน ส่วนที่เหลือร้อยละ 15 มาจากเงินสนับสนุนโดยรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร
บริติช เคานซิลก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2495 และขยายสาขาเป็น หกสาขาในประเทศไทย ประกอบด้วย ห้าสาขาในกรุงเทพมหานครและ หนึ่งสาขาในเชียงใหม่ เรามุ่งมั่นในพันธกิจของเราในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและ
สหราชอาณาจักรและสร้างโอกาสให้ผู้คนผ่านงานด้านภาษาอังกฤษ การศึกษา การสอบ ศิลปะและสังคม
www.britishcouncil.or.th
เกี่ยวกับโครงการกองทุนนิวตัน (Newton Fund)
โครงการกองทุนนิวตันเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ในสังคมโดยการใช้วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมและการทำงานร่วมกับประเทศพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการ ทุนวิจัย Newton Fund เป็นทุนสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมจากสหราชอาณาจักรมูลค่ากว่า 735,000,000 ปอนด์ โดยเริ่มโครงการครั้งแรกในปี 2557 และมีแผนดำเนินโครงการถึงปี พ.ศ. 2564
บริติช เคานซิลประเทศไทยเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการ Newton Fund โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่ให้การสนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์และวิจัยชั้นนำในประเทศไทย รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญในการสนับสนุนงานวิจัยในระดับอุดมศึกษา โครงการการ Institutional Links
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัย "ศูนย์ย่อยสลายขยะจากอาหารด้วยระบบย่อยสลายแบบไร้อากาศ" โดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และ มหาวิทยาลัย Loughborough http://biogas-from-waste.lboro.ac.uk/