กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จัดสัมมนาความปลอดภัยทางรังสีสำหรับงานทดสอบแบบไม่ทำลายด้วยวิธีถ่ายภาพด้วยรังสีทางอุตสาหกรรม ให้กับผู้ปฏิบัติงานและผู้ประกอบการ ย้ำต้องลดความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางรังสี ป้องกันการได้รับรังสีสูง และลดปริมาณการได้รับรังสีโดยไม่จำเป็นในผู้ปฏิบัติงาน สิ่งแวดล้อม และประชาชนทั่วไป
ดร. อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า การตรวจสอบสถานปฏิบัติการทางรังสี เป็นภารกิจหลักสำคัญประการหนึ่งของ ปส. และจากรายงานผลตรวจปริมาณรังสีของผู้ปฏิบัติงานถ่ายภาพด้วยรังสีแกมมาทางอุตสาหกรรม พบว่าผู้ปฏิบัติงานหลายรายได้รับรังสีสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากผู้ปฏิบัติงานและผู้ประกอบการยังขาดความรู้ความเข้าใจในหลักการป้องกันอันตรายจากรังสี ปส. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์และรังสี จึงจัดสัมมนา "ความปลอดภัยสำหรับงานทดสอบแบบไม่ทำลายด้วยวิธีถ่ายภาพด้วยรังสีทางอุตสาหกรรม" ตั้งแต่วันที่ 1 - ๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมสิงห์บุรานุรักษ์ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดระยอง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล ผู้ขอรับใบอนุญาตและเจ้าของสถานที่ที่ปฏิบัติงานทดสอบแบบไม่ทำลายด้วยวิธีถ่ายภาพด้วยรังสีทางอุตสาหกรรม และเน้นย้ำการลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางรังสี การลดปัญหาการได้รับปริมาณรังสีสูงในผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั่วไป
การขออนุญาตมีไว้ในครอบครองหรือใช้ และนำเข้าวัสดุกัมมันตรังสี เพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในทุกปี โดยปัจจุบันมีหน่วยงานทางด้านอุตสาหกรรมที่ได้รับใบอนุญาตจาก ปส. กว่า 400 หน่วยงาน ที่ผ่านมา ปส. ได้มีการส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบความปลอดภัยในสถานประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานกับรังสี ประชาชนและสิ่งแวดล้อม และเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา ได้เริ่มมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ปส. ได้เห็นถึงความสำคัญในการกำกับดูแลความปลอดภัยให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น จึงได้จัดสัมมนาเรื่องดังกล่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลการใช้งานเกี่ยวกับวัสดุกัมมันตรังสี เครื่องกำเนิดรังสี และวัสดุนิวเคลียร์ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล