กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จัดประชุม "การพิทักษ์ความปลอดภัยวัสดุนิวเคลียร์ และการสร้างเครือข่ายการดำเนินการตามพิธีสารเพิ่มเติม ครั้งที่ 2" ในวันที่ 2 สิงหาคม 2561 ณ ปส. ย้ำสร้างสัมพันธ์เครือข่ายอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำไปสู่การพิทักษ์ความปลอดภัยวัสดุนิวเคลียร์ของไทยให้เป็นไปตามหลักสากล
นางสาววิไลวรรณ ตันจ้อย รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การพิทักษ์ความปลอดภัยวัสดุนิวเคลียร์และการสร้างเครือข่ายการดำเนินงานตามพิธีสารเพิ่มเติม ครั้งที่ 2" ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคาร 1 ปส. โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และสถาบันการศึกษาเข้าร่วมประชุมกว่า 25 หน่วยงาน อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพยากรธรณี กรมศุลกากร กรมการอุตสาหกรรมทหาร สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของพิธีสารเพิ่มเติมความตกลงว่าด้วยการพิทักษ์ความปลอดภัยวัสดุนิวเคลียร์ ภายใต้สนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และความตระหนักถึงพันธกรณีที่มีผลผูกพันให้ประเทศไทยต้องดำเนินการตามความตกลงฯ ซึ่ง ปส. ได้มีการจัดการประชุมสร้างเครือข่ายการปฏิบัติงานด้านพิทักษ์ความปลอดภัยวัสดุนิวเคลียร์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วหนึ่งครั้ง เมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา
นางสาววิไลวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยโดย ปส. และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้ลงนามความตกลงฯ ร่วมกัน เพื่อพิทักษ์ความปลอดภัยวัสดุนิวเคลียร์ตามหลักสากล โดยประเทศไทยต้องจัดทำบัญชีควบคุมวัสดุนิวเคลียร์ตั้งแต่การผลิต ส่งออก หรือโยกย้าย และตรวจสอบกิจกรรมการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ว่าถูกนำมาใช้ในทางสันติ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวทำให้สามารถติดตามวัสดุนิวเคลียร์ได้หากเกิดการสูญหาย
ในส่วนของพิธีสารเพิ่มเติมดังกล่าว มีผลให้ประเทศไทยต้องรวบรวมข้อมูล ประมวลผล จัดทำคำแจ้งประกาศ และส่งให้ IAEA ที่ผ่านมา ปส. ได้จัดทำคำแจ้งประกาศฉบับที่ 1 - 15 และส่งไปยัง IAEA แล้ว และสิ่งที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินการให้เป็นไปตามพันธกรณีในระยะยาว คือข้อมูลสำหรับรายงานต่อ IAEA ที่ถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และการพิทักษ์ความปลอดภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น