กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
อย. 4.0 ปฏิบัติการรูปแบบใหม่ให้คนไทยมีสุขภาพดี สนับสนุนแนวทางประชารัฐ พัฒนาแบบมีส่วนร่วมจากฐานรากในชุมชน ผ่านโครงการชุมชนสุขภาพดี Health For All ปี 2561 ลงพื้นที่เข้าถึงกลุ่มชุมชนใน 4 ภาคของประเทศ จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ด้านการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีรสชาติ หวาน มัน เค็ม ในปริมาณที่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดกระแสการดูแลสุขภาพด้วยการใช้ประโยชน์จากการเลือกบริโภคอาหารที่มีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ การอ่านฉลากหวาน มัน เค็ม และฉลากโภชนาการ โดย อย. ได้ร่วมกับ ม.มหิดล ในการติดตามประเมินผลโครงการ พบว่า กลไก บวร.ร. (บ้าน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล) ที่ใช้ในโครงการฯ เป็นแนวทางการดำเนินงานที่ส่งผลให้เกิดความสำเร็จทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เปิดโอกาสให้ประชาชนและหน่วยงานในชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของการดำเนินโครงการภายในชุมชนในแบบของตนเอง
วันนี้ (31 กรกฎาคม 2561) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และคณะ แถลงข่าวการดำเนินงานโครงการชุมชนสุขภาพดี Health For All ปี 2561 หรือ บวร.ร (บ้าน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล) ว่า จากสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases: NCDs) เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม มากเกินความต้องการของร่างกายเป็นระยะเวลานาน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องการเห็นคนไทยทุกชุมชนมีสุขภาพดี จึงจัดทำโครงการชุมชนสุขภาพดี (Health For All) ขึ้น เพื่อมุ่งเน้นให้ความรู้แก่ประชาชนในการปรับเปลี่ยนพัฒนาพฤติกรรมการบริโภคแบบเชิงรุกให้เข้าถึงชุมชน ซึ่งมีชุมชนนำร่องเข้าร่วมทั้งสิ้น 4 ชุมชน ครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ชุมชนบ้านทุ่ม จ.ขอนแก่น ชุมชนนาก่วมเหนือ จ.ลำปาง ชุมชนโพหวาย จ.สุราษฎร์ธานี และชุมชนเปรมประชาคม หมู่ 2 ต.พระพุทธบาท จ.สระบุรี โดยมีแกนนำของชุมชน (บวร.ร. - บ้าน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล) เป็นหลักในการรณรงค์ให้ความรู้ด้านการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีรสชาติ หวาน มัน เค็ม ในปริมาณที่เหมาะสม เน้นการอ่านและใช้ประโยชน์จากข้อมูลบนฉลาก เช่น สัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" หรือ Healthier Choice ในรูปแบบสื่อความรู้และวิดีโอตัวอย่างเกี่ยวกับการปรุงอาหารเมนูสุขภาพลด หวาน มัน เค็ม รวมทั้งอุปกรณ์เกมความรู้การบริโภคอาหารปลอดภัยมอบให้แก่ชุมชน จากนั้นแกนนำ บวร.ร.ของชุมชนก็ได้นำความรู้ไปปรับใช้ให้มีความเหมาะสมต่อบริบทชุมชนของตนเอง
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การดำเนินโครงการสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น อย.จึงได้ร่วมมือกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการติดตามและประเมินผล 4 ชุมชนในจังหวัดนำร่องดังกล่าว และพบว่า ประชาชนในชุมชนตระหนักถึงสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ความดัน ไขมัน เบาหวาน ฯลฯ และใส่ใจการบริโภคของตนเองมากขึ้น ลดอาหารรสจัด ลดการปรุงผงชูรส หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและขนมกรุบกรอบ เปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าบริโภค รวมทั้งเลือกซื้อสินค้าที่มีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) มากกว่าสินค้าทั่วไป นอกจากนี้ ยังพบว่ากลไก บวร.ร. เป็นแนวทางการดำเนินงานที่ส่งผลให้เกิดความสำเร็จทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เปิดโอกาสให้ประชาชนและหน่วยงานในชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของการดำเนินโครงการภายในชุมชนในแบบของตนเอง ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ที่ต่างกัน โดยแต่ละจังหวัดมีกลยุทธ์การดำเนินงานในลักษณะต่าง ๆ ทั้งแทรกซึม พุ่งเป้า ดาวกระจาย แตกต่างกันไปตามบริบทชุมชน โดย บวร.ร. เปรมประชาคม จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก วางกลยุทธ์แทรกซึม ให้ความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมพฤติกรรมเป็นรายบุคคลทุกคนเป็นกลไกหลัก มีการแลกเปลี่ยนความรู้กันในสภาชุมชนที่ประชุมหมู่บ้าน ร้านชำจัดแสดงสินค้า Healthier Choice และส่งเสริมให้ผู้ขายอาหารตระหนักถึงการปรุงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ส่วน บวร.ร. นาก่วมเหนือ จังหวัดลำปาง และบ้านทุ่ม จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ขนาดกลาง จึงพุ่งเป้ากำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงโรค NCDs ให้เป็นประเด็นหลัก จัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย มีกลไกหลักคือการเยี่ยมบ้านของกลุ่มเป้าหมายหมายเพื่อให้ความรู้และติดตามพฤติกรรมเป็นระยะ และยังพบความร่วมมือของร้านทั้งภายในและนอกชุมชน ทั้งร้านชำ ร้านกาแฟ ห้างสรรพสินค้าขนาดกลางและขนาดใหญ่ร่วมประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการเข้าถึงสินค้า Healthier Choice และสำหรับ บวร.ร. โพหวาย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีความหลากหลายสูง เล็งเห็นโอกาสในการวางยุทธศาสตร์พื้นที่ประเด็นอาหารและการบริโภค จึงดำเนินการกลยุทธ์ดาวกระจายการเผยแพร่ความรู้ ประชาสัมพันธ์ไปยังจุดต่าง ๆ ทั่วทั้งชุมชน ให้ความสำคัญกับชมรม กลุ่มคน ชาติพันธุ์ ศาสนาที่แตกต่างกันในพื้นที่ ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้อย่างถึงทั้งวัด มัสยิด ชาวไทย ชาวพม่าในชุมชน
อย่างไรก็ตาม เครือข่าย บวร.ร. ทุกจังหวัด มีกลไกสำคัญของความสำเร็จ คือ นักเรียน อย.น้อย ที่จะลงพื้นที่ชุมชนเพื่อสนับสนุนการทำงานของ บวร.ร. แต่ละชุมชน กิจกรรมการให้ความรู้ เยี่ยมบ้านติดตามกลุ่มเป้าหมาย และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผ่านมาตลอดทั้งโครงการล้วนแล้วแต่มีเยาวชน อย. น้อย ในพื้นที่เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อน นอกจากนี้ ยังมีการจัดการรอบด้าน ครอบคลุมปัจจัยนำ เอื้อ เสริม โดยมีการจัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารให้เอื้อและเสริมต่อพฤติกรรมการบริโภค สร้างบรรยากาศให้เกิดการเล็งเห็นถึงความสำคัญ การให้รางวัล การกระตุ้นเตือนกันเองภายในครอบครัว การสนับสนุนของร้านขายสินค้า ร้านขายอาหารที่ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งกระแสการพูดถึง บรรยากาศในชุมชน และประชาชนมีความเข้าใจ มีทัศนคติพร้อมซื้อสินค้า เอื้อต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม ที่สำคัญ ยังพบการให้ความร่วมมือของผู้ขายอาหาร ร้านขายของชำในชุมชน ในการประชาสัมพันธ์เรื่องการอ่านฉลากบริโภค และสินค้าที่มีสัญลักษณ์ Healthier Choice ด้วยการจัดบูธพิเศษแสดงสินค้า Healthier Choice ที่มีจำหน่ายในร้าน ให้ลูกค้าในชุมชนที่เข้ามาในร้านเห็นเด่นชัด เลือกพิจารณา เลือกซื้อ เลือกเปรียบเทียบได้โดยสะดวก นอกจากยอดขายเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญแล้ว ยังส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีแก่ร้านค้าในชุมชนอีกด้วย
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ การดำเนินงานโครงการชุมชนสุขภาพดีในปีนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากห้างค้าปลีก หรือ Modern Trade ซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง 4 แห่ง ได้แก่ บิ๊กซี ท็อปส์ เทสโก้ โลตัส และแม็คโคร ที่ช่วยประชาสัมพันธ์สื่อของโครงการ เช่น ติดโปสเตอร์ เผยแพร่สปอต/สารคดี ในห้างของตน ดังนั้น อย. จึงได้มีการมอบโล่เกียรติคุณเพื่อแสดงความขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม อย. จะเดินหน้าพัฒนารูปแบบ วิธีการที่ทันสมัย นำนวัตกรรมมาใช้ และที่สำคัญคือ จะพิจารณานำรูปแบบ บวร.ร.นี้ไปใช้ต่อ โดยให้ชุมชนรณรงค์ในรูปแบบที่เหมาะสมของแต่ละชุมชน และ อย.เป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนสื่อและองค์ความรู้ต่าง ๆ ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ถือว่าโมเดลนี้ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง ให้ผู้นำทางธรรมชาติ อันได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน และโรงพยาบาล เป็นผู้นำในการรณรงค์ โดย อย.จะยังคงดำเนินโครงการชุมชนสุขภาพดีนี้ ในปีงบประมาณต่อ ๆ ไป เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารอย่างเหมาะสม ส่งผลให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศในการรักษาพยาบาลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรค NCDs ในระยะยาวได้อีกด้วย