กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา 'หมูป่าอะคาเดมีกับแนวทางการรายงานข่าวในสถานการณ์กู้ภัย' ร่วมถอดบทเรียนการรายงานข่าวในสถานการณ์กู้ภัยช่วยทั้ง 13 ชีวิต ครั้งประวัติศาสตร์ของไทย ณ วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ผ่านการบอกเล่าประสบการณ์การทำงานจริงในพื้นที่ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณของวิชาชีพสื่อสารมวลชน ณ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2561 โดยมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ผศ.ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า "คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. ได้จัดกิจกรรมเสวนาถอดความรู้ "หมูป่าอะคาเดมีกับแนวทางการรายงานข่าวในสถานการณ์กู้ภัย" ขึ้น เพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับการรายงานข่าวในสถานการณ์กู้ภัย หลังเกิดเหตุการณ์นักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีและโค้ช จำนวน 13 คน สูญหายไปบริเวณวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย จากการแบ่งปันเรื่องเล่าประสบการณ์ ความรู้ความเชี่ยวชาญ และความคิดเห็น ในส่วนที่เกี่ยวกับการทำงานจริงในพื้นที่ เงื่อนไขในการทำงานต่างๆ รวมถึงประเด็นจริยธรรมและจรรยาบรรณของวิชาชีพสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน อันเป็นประเด็นสืบเนื่องมาจากเสียงสะท้อนทั้งบวกและลบที่ภาคประชาชนมีต่อการรายงานข่าวครั้งนี้"
ผศ.ดร.อัจฉรา กล่าวเพิ่มเติมว่า "งานเสวนา "หมูป่าอะคาเดมีกับแนวทางการรายงานข่าวในสถานการณ์กู้ภัย" ได้รับเกียรติจากนักวิชาการด้านสื่อมวลชน 4 ท่าน ได้แก่ นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีชัย ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 นายเบญจพจน์ ทิพย์แสงกมล ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นายศิปปชัย กุลนุวงศ์ ผู้สื่อข่าวประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักข่าว AFP และ นายดำรงเกียรติ มาลา ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ดำเนินรายการโดย รศ.รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. ทางคณะฯหวังว่างานเสวนาในครั้งนี้ จะเป็นหนึ่งในโอกาสที่ได้ประมวลข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการรายงานข่าวในสถานการณ์กู้ภัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งกับนักวิชาชีพ นักวิชาการด้านสื่อ นักศึกษาวิชาสื่อสารมวลชน รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจต่อไป"