กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--โฟร์ พี แอดส์(96)
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมห้างสรรพสินค้า ร้านค้าและตัวแทนจำหน่าย นมผงในจังหวัดนครปฐม ติดตามการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 เผย!! 7 ข้อห้ามที่เป็นประโยชน์จากการบังคับใช้กฎหมายที่ช่วยปกป้องแม่และครอบครัวให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ย้ำ!!ผู้จำหน่ายนมผงสำหรับเด็กไม่ใช่ศัตรู แต่ขอความร่วมมือให้เคารพสิทธิ์และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าวหลังเป็นประธานตรวจเยี่ยมเสริมพลังการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 ณ โรงพยาบาลนครปฐม จังหวัดนครปฐมและลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมร้านค้าในจังหวัด ว่า พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายใหม่ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา มีเจตนารมณ์เพื่อกำหนดมาตรการสำหรับควบคุมวิธีการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กให้เหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญที่เป็นข้อห้าม 7 ข้อคือ 1.ห้ามโฆษณาอาหารสำหรับทารก และอาหารเสริมทารกผ่านสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ โซเชียลมีเดีย 2.ห้ามใช้ข้อความเกี่ยวกับทารก หรือเด็กเล็ก หรือสื่อเชื่อมโยงไปถึงทารกในการโฆษณาอาหารเด็กเล็ก 3.ห้ามแจกนมผงตัวอย่าง คูปอง หรือขายพ่วงแก่หญิงตั้งครรภ์ แม่และครอบครัวที่มีทารก และเด็กเล็ก 4.ห้ามผู้จำหน่ายติดต่อ หญิงตั้งครรภ์ แม่ และครอบครัว ที่มีทารกและเด็กเล็กผ่านช่องทางต่างๆทั้งทางตรงและทางอ้อม 5.ห้ามให้ของขวัญแก่บุคลากรสาธารณสุข ห้ามให้ของใช้อุปกรณ์ต่างๆที่มีตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์แก่หน่วยบริการ 6.ห้ามบริษัทที่จัดจำหน่ายอาหารทารกจัดกิจกรรมอีเวนท์ การประชุม 7.ห้ามบริษัทสาธิตการใช้ผลิตภัณฑ์ในสถานที่ต่างๆ นอกจากนี้การให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ต้องเป็นจริงตามข้อมูลในฉลาก ทั้งนี้ผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง
โดยคาดหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้ประชาชนโดยเฉพาะแม่และครอบครัวได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็ก และอาหารเสริมสำหรับทารก ผ่านวิธีการส่งเสริมการตลาดที่เหมาะสมของผู้ประกอบธุรกิจ ประกอบการตัดสินใจเลือกอาหารให้กับลูกน้อยของตน เนื่องจากช่วงวัยทารกและเด็กเล็กเป็นช่วงอายุที่บอบบางและจำเป็นต้องได้รับอาหารที่ดีและเหมาะสมที่สุด ซึ่งเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 เดือน ควรได้กินนมแม่อย่างเดียว และหลัง 6 เดือนให้กินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยไปจนถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้น ส่วนอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่นำมาใช้ทดแทนนมแม่ ควรจะใช้ในกรณีจำเป็นและใช้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้กรมอนามัยได้ดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนกฎหมายจนมีความก้าวหน้าในหลายประการ ได้แก่ การจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุขประกอบพระราชบัญญัติฯ เพื่อทำให้เนื้อหาสาระของกฎหมายมีความสมบูรณ์ มีการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นกลไกในการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย มีการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรในทุกจังหวัดเพื่อสร้างความเข้าใจในเจตนารมย์และสาระของกฎหมาย จะได้ใช้ประโยชน์จากกฎหมายในการช่วยปกป้องแม่และครอบครัวได้ ซึ่งต้องขอทำความเข้าใจด้วยว่าบริษัทผู้จำหน่ายนมผงสำหรับเด็กไม่ใช่ศัตรู เพียงแต่อยากขอความร่วมมือให้เคารพสิทธิ์และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วย โดยต่อจากนี้จะมีการวางระบบเพื่อเฝ้าระวังการละเมิดกฎหมายที่ครอบคลุมทุกพื้นที่
"อย่างไรก็ตามแม่ในยุคปัจจุบันมีอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากหลายปัจจัย รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องดำเนินมาตรการในหลายด้าน เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนแม่ในเวลาเดียวกัน ซึ่งจังหวัดนครปฐมสามารถจัดบริการสุขภาพในโรงพยาบาล โดยเฉพาะการจัดตั้งคลินิกนมแม่เพื่อช่วยเหลือให้คำปรึกษา และช่วยแก้ปัญหาให้แม่ จนสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการควบคุมการส่งเสริมการตลาดของอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กในพื้นที่ให้เป็นไปตามมาตรการที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง " รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว