กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--บีโอไอ
บีโอไอเผยนักลงทุนรุ่นใหม่สนใจร่วมอบรมหลักสูตร "สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ รุ่น 14-15 เกินคาดหมาย จัดติวเข้มทั้งภาคทฤษฎีและปฎิบัติ มุ่งเสริมความรู้และทักษะประกอบการทุกมิติ สนับสนุนนักลงทุนไทยขยายสู่ตลาดต่างประเทศ
นางอรพิน สวัสดิ์พานิช ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายในงานเปิดการอบรมหลักสูตร "สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ หรือ Thailand Overseas Investment Support Center:TOISC รุ่นที่ 14-15" ว่า มีนักธุรกิจรุ่นใหม่ สนใจเข้าร่วมรับการฝึกอบรมตามหลักสูตร ทั้ง 2 รุ่น เกินความคาดหมายที่ตั้งไว้ โดยบีโอไอสามารถรับผู้เข้าฝึกอบรมได้รวม 80 คน จากเดิมตั้งเป้าหมายรับผู้เข้าอบรมไว้เพียง 70 คน
ทั้งนี้การอบรมหลักสูตรดังกล่าวจะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับนักธุรกิจเพื่อออกไปลงทุนและดำเนินกิจการในต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการสร้างความรู้ และทักษะในการประกอบธุรกิจ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนการอบรมภาคทฤษฎี รวมจำนวน 60 ชั่วโมง มีเนื้อหาครอบคลุมทุกเรื่องด้านการลงทุนในต่างประเทศ โดยเชิญวิทยากรผู้รู้ในแต่ละสาขาวิชาที่จำเป็นต่อการลงทุนในต่างประเทศ มาบอกเล่าเคล็ดลับ ประสบการณ์ และวิธีการปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ อาทิ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในต่างประเทศ การวางแผนภาษีเพื่อตัดสินใจลงทุนในต่างประเทศ กลยุทธ์การเจรจาต่อรองทางการค้า เคล็ดลับการประเมินลู่ทางการลงทุนเป็นต้น
ส่วนที่สองคือภาคปฏิบัติ บีโอไอจะนำผู้เข้าร่วมอบรมเดินทางไปศึกษาลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อสำรวจพื้นที่การลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน และกลุ่มประเทศตลาดใหม่ เพื่อให้ได้เห็นพื้นที่การลงทุนจริง เห็นโอกาสและปัญหาที่จะต้องนำกลับมาวิเคราะห์เพื่อปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมศึกษาลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้พบหน่วยงานภาครัฐไทยในต่างประเทศ ได้มีโอกาสพบปะผู้ประกอบการไทยที่ลงทุนอยู่ในประเทศต่างๆ รวมทั้งได้มีโอกาสพูดคุยพบปะกับนักธุรกิจของประเทศนั้นๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นพันธมิตรด้านการลงทุนในอนาคต โดยในการอบรมรุ่น 14 และ 15 จะมีการเดินทางไปศึกษาลู่ทางการลงทุนในประเทศรัสเซีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
"การทำธุรกิจในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก การมีฐานประกอบการอยู่ในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวอาจไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถแข่งขันได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตามการออกไปลงทุนในต่างประเทศต้องอาศัยความพร้อมในหลายมิติ ทั้งองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจ การตลาด การเงินระหว่างประเทศ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายท้องถิ่นของแต่ละประเทศ ความเข้าใจกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งต้องเข้าใจบริบทด้านสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ซึ่งหลักสูตรการอบรมของบีโอไอ จัดได้ว่าให้ความรู้ที่ครอบคลุม มีความเข้มข้นที่จะเสริมสร้างศักยภาพแก่นักลงทุนได้อย่างดี" นางอรพิน กล่าว
นางอรพิน กล่าวเพิ่มเติมว่า บีโอไอได้จัดให้มีหลักสูตรการอบรมมาแล้ว 7 ปี รวม 13 รุ่น มีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 479 ราย และจากการติดตามพัฒนาการของผู้เข้ารับการอบรมพบว่า มีผู้ออกไปลงทุนในต่างประเทศแล้ว มีจำนวน 104 ราย เป็นการตั้งโรงงานผลิต 56ราย เป็นสำนักงานการขายและสำนักงานตัวแทน 48 ราย โดยส่วนใหญ่ลงทุนอยู่ในประเทศเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา
ผู้เข้ารับการอบรมจากโครงการ ที่ประสบความสำเร็จในการไปลงทุนต่างประเทศ อาทิ ลงทุนในประเทศกัมพูชา ได้แก่ บริษัท เอส พี บราเดอร์ จำกัด ประกอบกิจการ ตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป บริษัท ลิมไลน์ แอพพาเรล จำกัด ประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป บริษัท ชินห่วย จำกัด ประกอบกิจการแปรรูปผลไม้
ส่วนการลงทุนในประเทศเมียนมา ได้แก่ บริษัท ทองไทย การ์เม้นท์ จำกัด ประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป บริษัท ดีแพค อินเตอร์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก การลงทุนของไทยในประเทศอินโดนีเซีย ได้แก่ บริษัท ซัมมิท ออโต้ จำกัด ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และ บริษัท เอส.พี.โอ. อะโกรอินดัสตรี้ส์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตน้ำมันจากพืช เป็นต้น