กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยผลการสำรวจความสามารถด้านนวัตกรรมของแต่ละประเทศ หรือ GII 2018 ที่จัดทำโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (World Intellectual Property Organization) หรือ WIPO ซึ่งเป็นหน่วยงานนำในการจัดทำดัชนีนวัตกรรมระดับโลก (Global Innovation Index; GII) ในปีนี้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 44 ขยับขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากเดิม 7 อันดับ (ปี 2017 อยู่อันดับ 51) ถือเป็นประเทศในกลุ่ม "Innovation Fast Move" นอกเหนือจากอันดับในภาพรวมแล้ว ประเทศไทยมีการปรับตัวดีขึ้นในกลุ่มปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input sub-index) จากเดิมอันดับที่ 65 เลื่อนขึ้นเป็นอันดับที่ 52 ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเร่งดำเนินการภายใต้แนวคิด "วิทย์สร้างคน วิทย์แก้จน และวิทย์เสริมแกร่ง" ผ่านโครงการยุทธศาสตร์จำนวนมากดดยมุ่งเน้นในการพัฒนาคนซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาทุกอย่างของประเทศ
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยรายละเอียดว่า "จากผลสำรวจปี 2018 ประเทศไทยมีจุดเด่นในปัจจัยด้านระบบตลาด (Market Sophistication) ปัจจัยผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโนโลยี (Knowledge & Technology Outputs) และ ปัจจัยผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ (Creative Outputs) สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการภาคเอกชนไทย และการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ผ่านมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในผู้ประกอบการนวัตกรรม เห็นได้จากตัวเลขการเติบโตในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ร้อยละ 0.78 ของ GDP ในปี 2561 ที่ภาคเอกชนไทยมีสัดส่วนการลงทุนเมื่อเทียบกับภาครัฐอยู่ที่ 73:27 ซึ่งใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรม รวมถึงการเติบโตของจำนวนผู้ประกอบฐานนวัตกรรมและผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นในประเทศ
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเร่งปรับปรุงตัวชี้วัดที่เป็นจุดอ่อนของประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเร่งดำเนินการภายใต้แนวคิด "วิทย์สร้างคน วิทย์แก้จน และวิทย์เสริมแกร่ง" ผ่านโครงการยุทธศาสตร์ อาทิ โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ 6 ภาค ที่ตอบการปรับปรุงปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) การพัฒนาระบบนิเวศสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Thailand) เพื่อปรับปรุงปัจจัยด้านระบบธุรกิจ (Business Sophistication) และโครงการ "คนรุ่นใหม่เรียนสายวิทย์" เพื่อปรับปรุงปัจจัยด้านทุนมนุษย์และการวิจัย (Human capital & research) เป็นต้น"
โดยปัจจัยที่สะท้อนจุดอ่อนของประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม อาทิ ปัจจัยด้านทุนมนุษย์และการวิจัย และปัจจัยด้านระบบธุรกิจ ที่ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของประเทศในการเชื่อมโยงทุนมนุษย์ งานวิจัยและธุรกิจ เพื่อนำไปสู่ความสามารถทางนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของประเทศไทยมาแต่อดีต และเป็นโจทย์ที่รัฐบาลให้ความสำคัญและนำไปสู่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มติคณะรัฐมนตรีในการจัดตั้ง "กระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม" จึงมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการบูรณาการงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การให้ทุนวิจัย การพัฒนาทุนมนุษย์และงานวิจัย รวมถึงการใช้ประโยชน์งานวิจัยเพื่อนำไปสู่นวัตกรรม เพื่อการยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทยทั้งระบบ
ด้าน ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า "ดัชนีนวัตกรรมระดับโลก หรือ GII จัดทำขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 ภายใต้หัวข้อ "การกระตุ้นโลกด้วยนวัตกรรม" ซึ่งทำการสำรวจความสามารถด้านนวัตกรรม 126 ประเทศทั่วโลก เมื่อเปรียบเทียบอันดับ GII ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางประเทศไทยอยู่อันดับ 5 จาก 34 ประเทศ และอยู่อันดับ 9 ในกลุ่มประเทศเอเชียและโอเชียเนีย NIA ในฐานะองค์กรหลักในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติได้มีโอกาสหารือกับ WIPO ในเบื้องต้นเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ในการพัฒนาและปรับปรุงดัชนี้นวัตกรรมของประเทศให้สูงขึ้น ซึ่งเห็นว่าการพัฒนาปรับปรุงดัชนีนวัตกรรมของประเทศไทยเป็นสิ่งสำคัญจึงร่วมกับ WIPO กำหนดจะจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปเพื่อสร้างความเข้าใจแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับกรอบแนวคิดดัชนีนวัตกรรมโลกแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องแก่หน่วยงานภาครัฐและประชาชนในงาน Thailand Innovation Week 2018 วันที่ 4 - 7 ตุลาคม 2561 โดยหวังว่ากิจกรรมนี้ จะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้อันดับความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand