กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--ไทยออยล์
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 6 สิงหาคม 2561
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 66 – 71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 70 - 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (6 – 10 ส.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดจะปรับเพิ่มขึ้น หลังการนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศแคนาดามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึง ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก หลังมีการตกลงเพิ่มการผลิตในการประชุมโอเปกที่ผ่านมา นอกจากนี้ ปริมาณการส่งออกจากลิเบียมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความไม่สงบในบริเวณช่องแคบ Bab El- Mandeb และ อิหร่านที่ปริมาณการส่งออกคาดจะปรับลดลง หลังเผชิญกับการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นหลังแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Syncrude ในแคนาดา กำลังการผลิต 360,000 บาร์เรลต่อวัน มีแนวโน้มกลับมาผลิตได้ตามปกติในเดือน ส.ค. โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 3.8 ล้านบาร์เรล สวนทางกับตลาดที่คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 3.0 ล้านบาร์เรล
- ความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกได้ปรับลดลงกว่าร้อยละ 5 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 111 ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังทั้งสองกลุ่มผู้ผลิตตัดสินใจปรับเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมโอเปกที่ผ่านมา โดยในเดือนกรกฎาคม ประเทศซาอุดิอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ปรับเพิ่มกำลังการผลิตรวมกันกว่า 170,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า
- ปริมาณการผลิตและส่งออกของลิเบียมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้น หลังท่าเรือขนส่งน้ำมันดิบ Zueitina และ Hariga กลับมาดำเนินการตามปกติ นอกจากนี้ ท่าเรือ Ras Lanuf และ Es Sider สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้บ้างแล้ว แม้ว่าจะอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุงถังเก็บน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง Sharara ยังคงขาดหายไปกว่า 160,000 บาร์เรลต่อวัน หลังเกิดเหตุลักพาตัวคนงานโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
- จับตาสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณช่องแคบ Bab El- Mandeb หลังซาอุดิอาระเบียประกาศหยุดการส่งออกน้ำมันดิบผ่านทางช่องแคบดังกล่าวเป็นการชั่วคราว เนื่องจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบฮูตีในเยเมนเข้าโจมตีเรือขนส่งน้ำมันดิบสองลำ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะคลี่คลายลง หลังกลุ่มก่อความไม่สงบประกาศหยุดการโจมตีชั่วคราวถึงสัปดาห์หน้า ถ้าหากน้ำมันดิบไม่สามารถขนส่งผ่านช่องแคบดังกล่าวได้จะส่งผลให้น้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบียกว่า 500,000 บาร์เรลต่อวันเกิดความล่าช้าและมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เนื่องจากต้องเปลี่ยนเส้นทางไปสู่แหลม Good Hope แทน
- สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง หลังสหรัฐฯ ต้องการปรับเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ากว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 จากเดิมที่ร้อยละ 10 เพื่อเป็นการตอบโต้จีนที่ไม่ยินยอมปฎิบัติตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ และเตรียมที่จะออกมาตรการภาษีตอบโต้กลับสหรัฐฯ ในเร็วๆ นี้ ซึ่งนโยบายดังกล่าวคาดจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ย. นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังขู่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทุกชนิดรวมมูลค่ากว่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสงครามการค้าครั้งนี้คาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและกดดันความต้องการใช้น้ำมันโลก
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคจีน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ และดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 ก.ค. – 3 ส.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 0.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 73.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 71.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงกดดันจากน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 3.8 ล้านบาร์เรล หลังปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบปรับลดลงกว่า 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึง การปรับเพิ่มปริมาณการผลิตจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่เริ่มส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบตึงตัวน้อยลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่ถูกกระทบจากความไม่สงบในประเทศ ลิเบีย ซาอุดิอาระเบีย และนอรเวย์ ส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น