กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--ไทยคม
บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ("THCOM") ผู้ให้บริการดาวเทียมไทย ได้รับความไว้วางใจจาก บริษัท ยูนิไวส์ ออฟชอร์ จำกัด ผู้ให้บริการเรือสนับสนุนภารกิจในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง เลือกใช้บริการ Nava(TM) บรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียมทางทะเลจากไทยคม ติดตั้งบนเรือปฏิบัติงานนอกชายฝั่งกว่า 30 ลำ เพิ่มประสิทธิภาพบริการทางทะเลให้แข็งแกร่ง
ยูนิไวส์ ออฟชอร์ จะใช้บริการ Nava(TM) เพื่อยกระดับการปฏิบัติงานในท้องทะเล อาทิ การลดช่องว่างในการติดต่อสื่อสารระหว่างชายฝั่งกับลูกเรือและผู้โดยสาร การจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และด้วยเทคโนโลยี Fiber-To-The-Ship (FTTS(TM)) ของบริการ Nava(TM) จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรับ-ส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูง ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และช่วยให้ลูกเรือสามารถเชื่อมต่อกับครอบครัวได้อย่างง่ายดาย
Jon-Axel Hauglum ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ยูนิไวส์ ออฟชอร์ จำกัด กล่าวว่า "ด้วยแพลตฟอร์มบริการ Nava(TM) ของไทยคม จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับ ยูนิไวส์ ออฟชอร์ และทำให้ลูกเรือของเราสามารถติดต่อสื่อสาร และใช้งานเชื่อมต่อบนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ทุกที่ ทุกเวลา เราเชื่อมั่นว่า Nava(TM) จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในธุรกิจทางทะเลให้กับยูนิไวส์ ออฟชอร์ ได้อย่างแน่นอน"
นายทักษิณ อุปลาคม ผู้อำนวยการ ด้าน Mobility Platform บมจ.ไทยคม กล่าวว่า "แพลตฟอร์ม Nava(TM) จะทำงานบนแอพพลิเคชั่นที่ได้รับการคิดค้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า โดย Nava(TM) คือ ผลลัพธ์ของการนำเทคโนโลยีดาวเทียมมาพัฒนาบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าในตลาดที่ยังไม่มีการสื่อสารในรูปแบบใดเข้าถึงได้มาก่อน โดยบริการดังกล่าวจะสร้างประสบการณ์ใหม่ของการติดต่อสื่อสารกันได้แม้อยู่กลางทะเล และเป็นบริการที่มีจุดเด่นทั้งในด้านความปลอดภัย เครือข่ายที่มีความยืดหยุ่น และมีทีมงานที่พร้อมดูแลและให้การสนับสนุนตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน"
Nava(TM) คือ บริการบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียมที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ สำหรับใช้สื่อสารระหว่างเรือที่ออกไปปฏิบัติการและชายฝั่งในภูมิภาคเอเชีย แพลตฟอร์มบริการ Nava(TM) ได้เปิดตัวครั้งแรกราวต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยยกระดับการสื่อสารในอุตสาหกรรมการเดินเรือในยุคดิจิทัล Nava(TM) จะช่วยให้การปฏิบัติงานในท้องทะเลมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดช่องว่างในการติดต่อสื่อสารระหว่างชายฝั่งกับลูกเรือและผู้โดยสาร โดยสามารถเชื่อมต่อทุกคน ทุกที่ ให้สื่อสารกันได้แม้อยู่ในท้องทะเล