กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--สภาธุรกิจตลาดทุนไทย
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนสิงหาคม 2561 ว่า "ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สอง อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) เป็นเดือนที่สี่ติดต่อกัน โดยผลสำรวจชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ยอดขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศที่ลดลง และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน สนับสนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน ขณะที่นักลงทุนจับสัญญาณทิศทางเงินทุนไหลเข้าออกระหว่างประเทศและผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าและการลงทุน เป็นตัวฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน"
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนสิงหาคม 2561 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
- ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ตุลาคม 2561) เพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว" (Neutral) (ช่วงค่าดัชนี 80 - 120) โดยเพิ่มขึ้น 6.69% อยู่ที่ระดับ 108.11
- ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการสำรวจเดือนก่อนอยู่ที่ Zone ร้อนแรง (Bullish)
- ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่กลุ่มนักลงทุนรายบุคคลต่างปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)
- หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK)
- หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธุรกิจเหล็ก (STEEL)
- ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
- ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ
"ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือนกรกฎาคม มีการเคลื่อนไหวแกว่งตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของเดือน จากนั้นช่วงกลางเดือนดัชนีฯมีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุด 1601.42 จุดในช่วงต้นเดือน มาสู่ระดับสูงสุดที่ 1701 จุด ในช่วงปลายเดือน จากแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศที่ลดลงในช่วงเดือนกรกฎาคม และความเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจของไทยที่มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง และ GDP Growth มีแนวโน้มขยายตัวถึง 4-5% ตามนโยบายการกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ ผลสำรวจชี้ว่าทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า นักลงทุนเชื่อมั่นการเติบโตเศรษฐกิจของไทย คาดหวังว่ายอดขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศมีมูลค่าลดลง และเชื่อมั่นผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงมีความกังวลทิศทางเงินทุนเข้าออกระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายกีดกันทางการค้าและสงครามทางการค้า ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง เป็นปัจจัยที่นักลงทุนติดตามมากที่สุด สำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ นั้น ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ ทิศทางเศรษฐกิจโลกแม้ว่า IMF ได้ประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจโลก จะยังขยายตัวแข็งแกร่ง 3.9% แต่มีความกังวลสงครามการค้า ที่คาดว่าจะกระทบต่อการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2020 ผลกระทบจากการเจรจา BREXIT ของอังกฤษที่มีท่าทีประนีประนอมมากขึ้น ทิศทางนโยบายทางการเงินของธนาคารยุโรปที่ส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยตลอดปีนี้ ทิศทางนโยบายทางการเงินของญี่ปุ่นที่อาจมีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน ขณะที่ต้องพิจารณาถึงแนวโน้มผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจจีนที่มีต่อสงครามทางการค้า รวมถึงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและการคลังของจีนและการอ่อนค่าของค่าเงินหยวน ที่จะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาค"
ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนสิงหาคม 2561
"ผลจากดัชนีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ระดับ 1.50% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ปัจจัยหลักมาจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและการคาดการณ์การขยายตัวที่ดีทางเศรษฐกิจของไทย" นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนสิงหาคม 2561 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนมิถุนายนนี้ อยู่ที่ระดับ 54 สะท้อนความเชื่อมั่นของตลาดว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมที่จะถึงนี้ โดยให้น้ำหนักในปัจจัยหลัก ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในกรอบนโยบาย การคาดการณ์การขยายตัวที่ดีทางเศรษฐกิจ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เป็นหลัก ทั้งนี้ตลาดเริ่มที่จะคาดการณ์ถึงการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นกันบ้างแล้ว
- ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี และ 10 ปี ในช่วงประชุม กนง. รอบเดือนกันยายน 2561 (ประมาณ 11 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 93 และ 87 ตามลำดับ ซึ่งดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี ปรับเพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้ว จากระดับ 90 ในขณะที่รุ่นอายุ 10 ปี ปรับลดลงจาก 92 โดยดัชนีทั้งสองยังอยู่ในระดับที่สะท้อนถึงทิศทางการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั้ง 5 ปี และ 10 ปี แต่ในพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีมีระดับความเชื่อมั่นลดลง ผู้ตอบแบบสำรวจให้ความสำคัญกับ อุปสงค์ อุปทานในตลาดตราสารหนี้ไทย ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และ กระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยในรอบนี้ Bond Dealers ยังให้น้ำหนักกับอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นมาด้วย