กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ผันผวน โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 73.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ 68.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 72.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 83.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 0.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 87.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นหลังอิหร่านปฏิเสธข้อเสนอของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump ในการจัดประชุมเพื่อหารือร่วมกัน อย่างไรก็ดีประธานาธิบดีอิหร่าน นาย Rouhani มีความเห็นว่าการประชุมไม่มีประโยชน์จากพฤติกรรมไม่รักษาสัญญาของสหรัฐฯ
- Reuters ระบุปริมาณสำรองน้ำมันดิบและปริมาณการผลิตส่วนเกิน (Spare Capacity) ของโลกอยู่ในระดับต่ำบ่งชี้ว่าตลาดน้ำมันเปราะบางต่อปัญหาอุปทานชะงักงัน อีกทั้งปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในอิหร่านเริ่มลดลงหลังผู้ซื้อเริ่มทยอยลดปริมาณนำเข้า ล่าสุดบริษัทน้ำมันในอินเดียนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านในเดือน มิ.ย. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 12% อยู่ที่ 664,000 บาร์เรลต่อวัน
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 30,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 10.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการผลิตในบริเวณอ่าวเม็กซิโกลดลงมากกว่าการผลิต Shale Oil ที่เพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- 3 ส.ค. 61 จีนเตรียมการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ มูลค่ารวม 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 5-25% ซึ่งมีน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) อยู่ในรายการด้วย เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ที่ประกาศเตรียมการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าและบริการจากจีน มูลค่ารวม 2 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อกลางสัปดาห์ อนึ่ง จีนนำเข้าน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก และนำเข้า LNG เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ส.ค.61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2 แท่น มาอยู่ที่ 859 แท่น
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI ปิดตลาดลดลงจากความกังวลเรื่องสงครามการค้าระลอกใหม่ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดเริ่มขยายผลไปถึงปิโตรเลียม ขณะเดียวกัน Reuters รายงานว่า Sinopec บริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีนเลื่อนการนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ออกไปโดยไม่มีกำหนด ทั้งนี้ Reuters ประเมินจากกำหนดส่งมอบ ว่าจีนนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ในเดือน ม.ค.-ส.ค. 61 ปริมาณ 335,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ในเดือน ก.ย. 61 จะลดลงมาอยู่ที่ 198,000 บาร์เรลต่อวัน อนึ่งในปี พ.ศ. 2560 จีนนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม Unipec ซึ่งเป็นบริษัทค้าน้ำมันภายใต้ Sinopec จะนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ไปยังยุโรปต่อไป ขณะเดียวกัน จีนจะหันมานำเข้าน้ำมันดิบจากแอฟริกาตะวันตกมากขึ้น โดยนำเข้าแตะ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. 61สูงสุดในรอบ 3 เดือน ส่วน LNG นั้น ในปี พ.ศ. 2560 จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่าเพียง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ Morgan Stanley ประมาณการณ์ว่าจีนจะนำเข้าเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ล่าสุด API สถาบันปิโตรเลียมของสหรัฐฯ (มีบริษัท ExxonMobil บริษัท Chevron และบริษัท CononcoPhillipsเป็นสมาชิกอยู่ด้วย) กล่าวว่าสงครามการค้ายกนี้จะสร้างความเสียหายแก่สหรัฐฯ มากกว่าจีน ทั้งนี้ สินค้าอื่นในรายการ อาทิ สารกึ่งตัวนำ เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินขนาดเล็กและขนาดกลาง สินแร่เหล็ก ผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า กาแฟคั่ว น้ำตาล ช็อกโกแลต และกระจกรถยนต์ เป็นต้น ส่วนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบียแถลงว่าการขนส่งน้ำมันทางเรือผ่านทะเลแดงลอดช่องแคบ Bab el-Mandeb ออกสู่อ่าวเอเดน กลับมาดำเนินการตามปกติแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 4 ส.ค. 61 หลังต้องยุติเส้นทางดังกล่าวไปชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. 61 เนื่องจากถูกกลุ่มกบฏ Houthi ในเยเมนโจมตี ทั้งนี้กองกำลัง Houthi แจ้งว่าจะหยุดการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันที่เดินทางผ่านทะเลแดงเป็นเวลา 2 สัปดาห์เพื่อส่งเสริมสันติภาพ อนึ่ง ช่องแคบ Bab el-Mandeb กว้างเพียง 20 กม. (12 ไมล์) ทำให้ง่ายต่อการโจมตี ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 71.5-75.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 67.0-71.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70.5-74.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากแรงซื้อจากเวียดนามโดยบริษัท Petrolimex ของเวียดนามออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 92 RON ปริมาณ 68,000 บาร์เรล และน้ำมันเบนซิน 95 RON ปริมาณ 17,000 บาร์เรล ส่งมอบ 6-10 ส.ค. 61 และ EIA รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ก.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 231 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ก.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 320,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.32 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Plattsรายงานตลาดน้ำมันเบนซินในเอเชียอ่อนแอ เพราะผู้ค้าน้ำมันคาดว่าบริษัท Pertamina ของอินโดนีเซียได้เข้าซื้อน้ำมันเบนซินครบตามที่ต้องการสำหรับเดือน ส.ค. 61 แล้ว และ บริษัท Nayara Energy (ชื่อเดิม บริษัท Essar Oil) ของอินเดียขายน้ำมันเบนซิน 92 RON ปริมาณ 512,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 24-29 ส.ค. 61 นอกจากนั้นInternational Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 650,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 15.33 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบกว่า 4 เดือน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 81.5-85.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลของอินเดียลดลงในช่วงฤดูมรสุมทำให้อินเดียส่งออกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น อาทิ บริษัท Nayara Energy ,บริษัท Mangalore Refinery and Petrochemicals Ltd. (MRPL) และ บริษัท Indian Oil Corp. ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 124.2 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 เดือน และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล เชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ก.ค. 61 ทรงตัว อยู่ที่ 9.1 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Arbitrage น้ำมันดีเซลจากเอเชียไปยุโรปเปิดซึ่งผู้ค้าคาดว่าจะช่วยสนับสนุนราคาน้ำมันดีเซลตลอดเดือน ส.ค. 61 และ Ceylon Petroleum Corp. (Ceypetco) ของศรีลังกาออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.05%S และ0.001%S ปริมาณ 247,500 บาร์เรล และ 52,500 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 3-4 ก.ย. 61 ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 ส.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 960,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.94 ล้านบาร์เรลด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 85.5-89.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล