กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--Syllable
สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ประสานพลังกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าจัดโครงการ "พลังประชารัฐ พัฒนาข้าวไทย" ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวพร้อมจัดสัมมนาเสริมสร้างความรู้และชี้แจงมาตรการข้าวของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อพัฒนาและยกระดับข้าวไทยอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ สมาคมฯ ยังได้มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนและมอบอุปกรณ์การแพทย์แก่โรงพยาบาลในชุมชนอีกด้วย
กิจกรรมสัมมนาซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์โรงเรียนบ่อวิทยบางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน ประกอบด้วยผู้แทนสภาเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ และกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ กลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการค้าข้าวและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพาะปลูกภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์
ภายในงาน มีการเสวนาในหัวข้อ "ราคาข้าว…ใครกำหนด" โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิได้แก่ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นายวิจักร วิเศษน้อย อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางสาวพัชรี พยัควงษ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร 2 กรมการค้าภายใน และนายณรงค์ ชัยจิตรารัชต์ ผู้แทนผู้ประกอบการโรงสีข้าว โดย นายสมชาติ สร้อยทอง ที่ปรึกษางานพาณิชย์เป็นผู้ดำเนินรายการ
ร.ต.ท. เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า "โครงการ 'พลังประชารัฐ พัฒนาข้าวไทย'เป็นการรวมพลังของสมาคมฯ กับภาครัฐได้แก่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งสมาคมฯ เป็นหนึ่งใน 4 มิติของการขับเคลื่อนพัฒนา 'เพื่อข้าว – เพื่อชาวนา – เพื่อการค้า และเพื่อประชาสังคม' โดยเป็นการลงพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพื่อรับฟังปัญหาและร่วมหาแนวทางแก้ไขอย่างใกล้ชิด รวมทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนาการผลิตให้ตรงความต้องการของตลาด การให้ความช่วยเหลือด้านวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่พี่น้องเกษตรกรชาวนาไทย ซึ่งดำเนินไปพร้อมกับขับเคลื่อนและพัฒนาด้านการค้าและการส่งออกข้าวไทยเพื่อให้ข้าวไทยเป็นหนึ่งในตลาดโลก
"นอกจากนี้ ในมิติของประชาสังคม ก็จะมีการกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนและคนไทย อาทิ การสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อสาธารณประโยชน์ การมอบเงินและสิ่งของ บริจาค ทุนการศึกษาและอุปกรณ์การกีฬาเพื่อเด็กและเยาวชน ซึ่งในวันนี้ ทางสมาคมฯ ได้มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่ศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลบางระกำ ได้แก่ เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิด 12 ลีด จำนวน 1 เครื่อง เครื่องวัดความดันโลหิตดิจิตอล จำนวน 5 เครื่อง และปรอทวัดอุณหภูมิดิจิตอล จำนวน 10 เครื่อง พร้อมมอบทุนการศึกษาให้แก่โรงเรียนบ่อวิทยบางระกำ 50 ทุน ทุนละ 1,000 บาท อีกด้วย" ร.ต.ท. เจริญ กล่าว
นางสาวพัชรี พยัควงษ์ เปิดเผยระหว่างการเสวนาเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวว่า "กรมการค้าภายใน ได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวผ่านหลากหลายโครงการ ดังนี้ 1) การจัดหารถเกี่ยวให้เกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมาก ช่วยให้ชาวนาเกี่ยวข้าวได้ครบอายุพันธุ์ ได้ข้าวคุณภาพดีขายได้ราคาดี โดยเกษตรกรสามารถจองรถเกี่ยวได้ผ่านแอปพลิเคชั่น 'จองรถเกี่ยว' 2) การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรทุกราย ไร่ละ 1,200 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่ 3)การให้สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ให้เก็บข้าวเปลือกเข้ายุ้งฉาง รอราคาดีแล้วค่อยขาย เพื่อไม่ให้ราคาลดลงในช่วงผลผลิตออกมาก 4) การให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อรวบรวมหรือแปรรูปข้าว โดยผู้กู้เสียดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 5) การชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าว ในการเก็บข้าวในสต็อก ซึ่งรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 6) การจัดตลาดนัดข้าวเปลือกให้เกษตรกรมีทางเลือกในการขาย ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2560 – 30 ก.ย. 2561 โดยมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือ ให้ความเป็นธรรมในการขาย ดูแลเครื่องชั่ง เครื่องวัดความชื้นที่ได้มาตรฐานและดูแลการตรวจสิ่งเจือปน 7) การเชื่อมโยงการตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP โดยสนับสนุนค่าตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การจัดสรรโควตาส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป การอุดหนุนเงินให้เกษตรกร เพื่อส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ปีที่1-3 เป็นเงิน 2,000 บาท 3,000 บาท และ 4,000 บาท ตามลำดับ"
ด้านนายสมชาติ สร้อยทอง ที่ปรึกษางานการพาณิชย์ในประเทศจากกรมการค้าภายใน กล่าวย้ำว่า "รัฐบาลได้กำหนดมาตรการสินค้าเกษตร รวมทั้งมาตรการสินค้าข้าว เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาอย่างเป็นระบบ นำไปสู่เสถียรภาพของราคาสินค้าและรายได้ที่แน่นอนคุ้มค่ากับต้นทุนการผลิตของเกษตรกร อีกทั้งยังเตรียมความพร้อมเพื่อรับปัญหาเรื่องการแข่งขันทางการค้าที่สูงขึ้นโดยทำให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพและตรงความต้องการของตลาด การปกป้องผลประโยชน์ของตนเองให้ได้รับความเป็นธรรมในการจำหน่ายข้าวเปลือกไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ"
ทั้งนี้ นายวิจักร วิเศษน้อย ให้ความเห็นว่า "การลงพื้นที่เพื่อพบปะกับพี่น้องเกษตรกร นอกจากจะได้รับฟังปัญหา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันแล้ว ยังช่วยให้ชาวนาได้รับรู้ถึงสถานการณ์ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งสถานการณ์การตลาดปัจจุบัน มีการแข่งขันสูงมาก ดังนั้น ชาวนาไทยต้องเร่งปรับตัว เพื่อเตรียมพร้อมรับมืออย่างเท่าทัน เพราะหากถามว่าใครเป็นคนกำหนดราคาข้าวก็ต้องบอกว่าไม่มีใครไปกำหนดได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดโลกและการผลิตของเราที่ต้องให้สมดุลกัน สิ่งสำคัญที่จะต้องทำคือ ทำอย่างไรให้ต้นทุนการผลิตของเราต่ำที่สุด และทำอย่างไรให้ข้าวไทยของเรามีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกันคนละไม้คนละมือ ก็จะสามารถขับเคลื่อน และยกระดับข้าวไทยได้ตลอดทั้งกลไกการตลาด และเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน"
ภายใต้ โครงการ "พลังประชารัฐ พัฒนาข้าวไทย" กรมการค้าภายในและสมาคมฯจะร่วมกันจัดคณะลงพื้นที่ในภาคต่างๆ จนสิ้นเดือนกันยายน รวม 8 ครั้ง เพื่อพบปะผู้แทนเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จาก 30 จังหวัด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาข้าวไทยอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม